วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อรกานุสาสนี


๒. อรกานุสาสนี



อดีตกาล ท่านอรกศาสดาเป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความยินดีในกาม พร่ำสอนสาวกว่า หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อพระอาทิตย์อุทัยแล้วย่อมแห้งหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ก็เป็นเช่นหยาดน้ำค้างนั้น เป็นชีวิตอันสั้น มีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว ทุกข์คับแค้นมาก ฉะนั้น ท่านทั้งหลายควรบำเพ็ญกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะว่าสัตว์ที่เกิดแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี เมื่อฝนตกหนัก ฟองน้ำที่ตั้งขึ้นย่อมแตกกระจายไปเร็ว ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ชีวิตมนุษย์ก็เช่นกับฟองน้ำ อุปมาเหมือนดังกับรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉะนั้น


น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล มีกระแสไหลเชี่ยวกราก พัดพาซึ่งสรรพสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้ ไม่มีเวลาแม้สักชั่วครู่หนึ่งที่มันจะหยุด น้ำที่ไหลลงจากภูเขามีแต่ละไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว ไม่มียั้ง ชีวิตอันไม่ยั่งยืนของมนุษย์ก็อุปมาเหมือนกับน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉะนั้น


บุรุษมีกำลังอมก้อนน้ำลายไว้ที่ปลาย ลิ้นแล้วพึงถ่มน้ำลายนั้นไปโดยง่ายดาย ชีวิตของมนุษย์ตายง่ายดับง่าย อุปมาเหมือนก้อนน้ำลายที่จะถ่มได้โดยง่าย ฉะนั้น


ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงนาบในกระทะเหล็ก ถูกไฟเผาอยู่ตลอดวัน ย่อมถึงความย่อยยับโดยเร็ว มิได้ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์อุปมาชิ้นเนื้อที่ถูกเผาไฟอยู่ตลอดวัน ฉะนั้น


แม่โคที่กำลังจะถูกเชือดถูกต้อนไป สู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้ที่ฆ่า ใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ ชีวิตของมนุษย์อุปมา เหมือนดังแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่า ฉะนั้น


ฉะนั้น ยุคของท่านอรกศาสดา เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุยืนนานถึง ๖๐,๐๐๐ ปี มนุษย์ต่างมีชีวิตอยู่อย่างผาสุก มิค่อยจะเจ็บจะตายกันลงไปง่ายๆ เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บน้อยนิด โรคาพาธมีอยู่เพียง ๖ ชนิดคือ


๑. เย็น ๒. ร้อน ๓. หิว ๔. กระหาย ๕. ปวดอุจจาระ ๖. ปวดปัสสาวะ


โรคอื่นๆ ไม่มี ชีวิตอยู่อย่างแสนสุขสำราญ ไร้ความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่มีโรคภัยมาแผ้วพานเลย สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเล่าเรื่องท่านอรกศาสดาจบลงแล้ว จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสต่อไปอีกเป็นใจความว่า ที่ถูกต้องควรจักกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย มีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงทราบชัดในเรื่องนี้ได้ด้วยปัญญา ควรพากันบำเพ็ญกุศล พากันประพฤติพรหมจรรย์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายนั้น ย่อมไม่มีเลยในโลกนี้หรือแม้ในโลกไหนๆ




ดูกร ! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้คนที่มีอายุยืนอยู่ได้นานก็ประมาณเพียง ๑๐๐ ปี หรือน้อยกว่าบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี ย่อมมีโอกาสอยู่ได้ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐ ที่มีอายุยืนถึง ๓๐๐ ฤดูนั้น ย่อมมีโอกาสอยู่ได้ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน

คนที่มีอายุยืนถึง ๑,๒๐๐ เดือนนั้นย่อมมีโอกาสอยู่ได้ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน คนที่มีอายุยืนถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือนนั้น ย่อมมีโอกาสอยู่อย่างสันติได้ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี คนที่มีอายุยืนถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรีนั้นย่อมมีโอกาสได้บริโภคอาหารอันมีรสชาติที่ตนปรารถนา ๗๒,๐๐๐ มื้อ คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ มื้อ


ดูกร ! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ ประมาณแห่งอายุ ฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี เวลาการบริโภคอาหารแห่งมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ไว้ด้วยประการดังนี้แล้ว กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดูจะพึงกระทำแก่เหล่าสาวก กิจนั้นๆ เราตถาคตได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย


ดูกร ! เธอผู้เห็นภัย นั่นป่าเปลี่ยว นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่ามีจิตประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย ! นี่คืออนุศาสนีแห่งเราเพื่อเธอทั้งหลาย ตราบใดที่ยังตัดกิเลสไม่ได้ ยังติดอยู่ในจิตสันดาน สามัญสัตว์ย่อมมีชีวิต คลุกเคล้าอยู่กับตัณหา ด้วยความหลงทุกเวลานาที อันเป็นสิ่งชั่วร้าย


เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปใน อำนาจแห่งตัณหาดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพน้อยใหญ่ ย่อมดิ้นรนร่ำไร ใกล้ปากมฤตยูเข้าไปทุกที

ชีวิตย่อมจะมีการดิ้นรน กระเสือกกระสนกระสับกระส่ายด้วยความดิ้นรนเพราะทิฎฐิ กิเลส กรรมทุจริต ด้วยราคะของผู้กำหนัด โทสะของผู้ขัดเคือง โมหะของผู้หลงใหล มานะเป็นเครื่องผูกพัน ความฟุ้งซ่านที่ฟุ้งเฟ้อ ความสงสัยที่ไม่แน่ใจ ลาภและความเสื่อมลาภ ยศและความเสื่อมยศ สุขและทุกข์ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ด้วยทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของคนอื่น ด้วยทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ด้วยทุกข์ที่เกิดจากความแปรปรวน ด้วยทุกข์เพราะโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงรา โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคละลอก โรคคุดทะราดหน่อ โรคอาเจียน โรคโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง ด้วยอาพาธ มีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาด อาพาธเกิดแต่ฤดูอันเป็นธรรมชาติ


อาพาธเกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรม ความหนาวความร้อน ความหิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ด้วยทุกข์อันเกิดแต่สัมผัสแห่งสัตว์เบียดเบียน ตัวเหลือบ ยุง ริ้น ไร และ สัตว์เลื้อยคลาน มีงูเป็นต้น ด้วยความทุกข์เพราะความตายแห่งบิดา มารดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว บุตร ธิดา ภริยา สามี ทั้งญาติมิตรด้วย ทุกข์เพราะความพินาศแห่งโภคทรัพย์พินาศอันเกิดแต่โรค พินาศแห่งศีล พินาศแห่งทิฏฐิมานะ



พระพุทธฎีกาที่ว่า สัตว์ที่เกิดมาย่อมมีภัยโดยความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยโดยการหล่นไปในเวลาเช้าฉะนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกสลายไปในที่สุด ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็มีอุปมาเหมือนฉะนั้น มนุษย์ ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งโง่เขลา ทั้งเฉลียวฉลาด ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู มีมัจจุราชสกัดอยู่ข้างหน้า


เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกมัจจุราชสกัด อยู่ข้างหน้าแล้ว ถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว บิดาก็ต้านไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติที่รักยิ่งก็ต้านทานไม่ได้ มนุษย์ทั้งหลายย่อมจักถึงความตาย ทั้งๆที่พวกญาติกำลังแลดูอยู่ และกำลังรำพันกันอยู่เป็นอันมากนั่นเอง แลไม่มีใครเลยที่จะช่วยแก้ได้


ดูกร! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อยนัก มนุษย์จำต้องละไปสู่ปรโลก มนุษย์จำต้องประสบกับความตายตามที่เป็นกันแล้วนั้นมนุษย์ทั้งหลายจึงควร บำเพ็ญกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะมนุษย์ที่ได้เกิดมาแล้วจะไม่ตายเลยนั้น ย่อมไม่มี



ดูกร! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย มนุษย์ใดมีอายุอยู่ได้ยืนนาน มนุษย์นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี เกินกว่า ๑๐๐ ปี นั้นมีน้อยนัก บัดนี้ พระอัยยิกาของหม่อมฉันผู้ทรงชรา พระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา ได้เสด็จทิวงคตลงเสียแล้ว อันเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของหม่อมฉัน ! พระอนุสาสนีของพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีมรณะเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นที่สุดไม่ล่วงพ้นมรณะไปได้เลย ย่อมเป็นพระอนุสาสนีสร้างสาระคุณให้ได้ปัญญาถูกต้องที่สุดแล้ว พระเจ้าข้า



สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้มีบุญเลิศทรงลุถึงธรรมอันบริสุทธิ์ มีพุทธฎีกาตรัสว่า ย่อมเป็นเช่นนั้น มหาบพิตร ! สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ขอถวายพระพร มหาบพิตร ! ภาชนะดินชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งที่ดิบ ทั้งที่สุก ภาชนะดินเหล่านั้นทั้งหมดมีความแตกไปเป็นธรรมดา มีความแตกเป็นที่สุด ไม่ล้วงพ้นความแตกไปได้ อุปมานี้ฉันใด ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็เช่นกัน ย่อมมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุดรอบ ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย


สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้อง ตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายต้องไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือ ผู้มีกรรมเป็นบาปจักต้องไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญจักไปสู่สุคติ เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาพึงเลือกกระทำกรรมดีงาม สั่งสมบุญไว้เพราะบุญทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวงในปรโลก


ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เราตถาคตผู้ข้ามพ้นวัฏฏะแล้ว จะบอกความนี้ให้มหาบพิตรทรงทราบ คือว่า ชราและมรณะ ย่อมครอบงำพระองค์เป็นเสมือนบรรพตภูเขาสูงใหญ่เทียมเมฆที่ยกอุปมานั่นแลก็ เมื่อชราและมรณะครอบงำพระองค์อยู่อย่างนี้แล้ว อะไรเล่าที่จะพึงเป็นกิจซึ่งมหาบพิตรควรกระทำในกาลบัดนี้ ?”


เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ทรงชี้มหาภัย อันจักบังเกิดแก่พระชนม์ชีพของพระองค์ทรงยกเอาบรรพตภูผา มาเปรียบเทียบกับชรามรณะเช่นดังกล่าวมาแล้ว องค์ราชาธิราชได้ทรงสดับแล้วก็ซาบซึ้ง

สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงบรมสุขตรัสว่า ภูเขาใหญ่ศิลาล้วนสูงจรดท้องฟ้า กลิ้งบดขยี้ปวงสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ อุมานี้ฉันใด ชราและมรณะก็เป็นเช่นนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะมูลฝอย ไม่เว้นใครๆไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชัยชนะ เพราะการรบด้วยมนตราหรือด้วยทรัพย์ใดๆ


เพราะเหตุนี้แล ! คนที่เป็นบัณฑิต มีปรีชา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า ตั้งศรัทธาไว้ในพระธรรม ตั้งศรัทธาไว้ในพระสงฆ์ ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา ใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้เป็นแน่แท้ และเมื่อผู้นั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมจะระรื่นบันเทิงใจในสรวงสวรรค์เป็นสุคโต

ปายาสิสูตร


ปายาสิสูตร
ฟังและโหลดไฟล์ mp3 ปายาสิสูตร ได้โดยคลิ๊กที่นี่




          สมัย หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังสัตว์ให้ห่างไกลอสัทธรรม นิพพานไปแล้วไม่นาน พระเจ้าปายาสิผู้ครองเสตัพยนคร ผู้มีความเชื่อมั่นว่าตายแล้วสูญ ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เคยโต้ตอบปัญหาเรื่องนี้กับสมณพราหมณ์ต่างๆ มามากต่อมาก จนพราหมณ์ทั้งหลายเกิดครั่นคร้ามไม่อยากโต้ตอบด้วย เพราะพระองค์ ทรงมีความจัดเจน ในการโต้คารมเป็นอย่างยิ่ง

          วัน หนึ่งพระกุมารกัสสปะเถระ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากได้จาริกไปในแคว้นโกศล และได้แวะพักสั่งสอนประชาชน ณ ป่าไม้สีเสียด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเสตัพยนคร มีประชาชนไปฟังธรรมกันมาก พระเจ้าปายาสิจึงได้เสด็จไปโต้คารมในหัวข้อที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่พระเจ้าปายาสิได้ตรัสว่า มีแต่โลกนี้เท่านั้นโลกหน้าไม่มี โลกอื่นไม่มี

          พระ เถระถามว่า ก็ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และ ดวงดาวอื่นๆ ที่เห็นอยู่ เป็นโลกนี้หรือโลกอื่นเล่า?”

          พระเจ้าปา ยาสิตรัสว่า เป็นโลกอื่น

          พระเถระผู้ แตกฉานสัจจธรรมจึงตอบว่า เมื่อเห็นอยู่เช่นนี้ ไฉนพระองค์จึงยังตรัสว่าโลกอื่นไม่มีเล่า?”

          พระ เจ้าปายาสิยังไม่ทรงเชื่อแล้วตรัสว่า

          เรื่อง นี้ขอยกไว้ก่อน ถ้าหากว่าโลกหน้ามีจริง ไฉนญาติมิตรของข้าพเจ้าทำกรรมชั่วเอาไว้ เมื่อเขาจวนจะตายข้าพเจ้าก็ไปสั่งเขาว่า ถ้าท่านตายไปนรกแล้ว ให้กลับมาบอกข้าพเจ้าบ้าง แต่เมื่อเขาได้ตายไปแล้ว ข้าพเจ้ารอปีแล้วปีเล่า! ก็ไม่เห็นใครกลับมาบอกสักคน?” ก็แสดงว่านรกไม่มี เชื่อกันไปเอง คนเราตายแล้วก็สูญ

          พระเถระยก ตัวอย่างเปรียบเทียบให้ทรงสดับว่า เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งเป็นโจรถูกตำรวจจับไป เพื่อนำไปฆ่ายังตะแลงแกง โจรผู้นั้นจะขอร้องต่อนายเพชฌฆาตว่าให้ปล่อยไปก่อนเถิด เพื่อไปลาเมีย ลาพ่อแม่และลูก เสียก่อน แล้วจะกลับมาให้ฆ่า อยากถามว่าเพชฌฆาตผู้เฉียบขาดจะปล่อยไปไหม?”

          ตรัส ว่า ไม่ปล่อย ที่แท้นายเพชฌฆาตผู้เด็ดเดี่ยวเพิ่งตัดศีรษะของโจร ผู้กำลังอ้อนวอนขอชีวิตอยู่ทีเดียว

          พระเถระ ก็กล่าวว่า คนที่ตายไปตกนรกแล้วก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์ความทรมาน อันแสนหฤโหดทุรนทุรายในนรกแผดเผาอยู่ และย่อมไม่ได้รับอนุญาตจากนายนิรยบาล ให้กลับมาเล่าให้พระองค์ทรงทราบได้เลย

          พระเจ้าปา ยาสิผู้มากด้วยทิฏฐิมานะ ข้อนั้นยกไว้ก่อน เอาละ! ทีนี้ในด้านของคนทำแต่เฉพาะซึ่งความดี มีสมณพราหมณ์ที่ประพฤติดีเป็นอันมาก เมื่อจวนจะตาย ข้าพเจ้าสั่งไว้ว่าถ้าท่านตายไปเกิดในสวรรค์แล้ว ขอให้กลับมาบอกแก่ข้าพเจ้าบ้าง แต่เมื่อเขาตาย ข้าพเจ้ารอปีแล้วปีเล่าก็ไม่เห็นใครกลับมาบอก แสดงว่าสวรรค์ไม่มี เชื่อกันไปอย่างนั้นเอง คนเราตายแล้วก็สูญ

          พระเถระเจ้า ได้เปรียบเทียบถวายให้ทรงสดับว่า เปรียบเหมือนกับชายหนุ่มคนหนึ่ง เดินไปตกหลุมคูถ (หลุมขี้) จนมิดศีรษะ พระราชาได้ทรงรับสั่งราชบุรุษว่าให้ช่วยกันยกชายหนุ่มคนนั้นขึ้นมาจากหลุม คูถ แล้วให้อาบน้ำให้สะอาด แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์อย่างดี แล้วเชิญขึ้นไปอยู่บนปราสาท ให้เสวยกามสุขอยู่บนปราสาทนั้น อยากจะถามว่าชายหนุ่มผู้นั้นอยากจะตกลงไปในหลุมส้วม อันสุดจะเน่าด้วยอาจมอันเหม็นโสโครกอีกไหม?”

          พระเจ้าปายาสิตรัสว่า ใครจะอยากตกลงไป ก็หลุมส้วมนั้นทั้งเหม็นทั้งเน่า น่าเกลียด! ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล

          พระเถระก็ ถวายพระพรเปรียบเทียบให้ทรงสดับว่า คนที่ไปเกิดในสวรรค์ก็เหมือนกัน เสวยกามคุณทั้ง ๕ อยู่บนสวรรค์นั้นด้วยความรื่นเริงแสนจะบันเทิงเป็นอันมากแล้วมีความสุขอยู่ บนสวรรค์นั้น ใครเล่าจะอยากกลับมายังโลกมนุษย์ ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมส้วม อีกประการหนึ่งวันเวลาในสวรรค์กับวันเวลาในโลกมนุษย์ก็ไม่เท่ากัน เช่น วันเวลาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๑ วัน กับ ๑ คืน เท่ากับ ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์ ฉะนั้น ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ เป็นอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถ้าหากว่าสมณะพราหมณ์เหล่านั้นไปเกิดบนสวรรค์ และคิดว่าคอยอีก ๒-๓ วันจะกลับมาบอก

          พระเจ้า ปายาสิตรัสว่า กว่าพวกเขาผู้ติดใจความสุขบนสวรรค์จะมาบอก โยมก็เห็นจักตายไปนานแล้ว เพราะ ๒-๓ วันของเขาก็คงเป็น ๒๐๐-๓๐๐ ปี อย่างนี้แล้วโยมจะคอยคำบอกเล่าของเขาได้อย่างไร ?”

เทวดา มีจริง

          พระเถระกล่าวถวายพระพรต่อว่า

          มีบุรุษ ผู้หนึ่งตาบอดแต่กำเนิด ตั้งแต่เกิดมาเขาไม่เคยเห็นรูปสีดำต่างๆ ดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์เป็นต้น เขาไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้เลย เขาจึงพูดว่า เราไม่รู้เราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงไม่มี

          องค์มหาบพิตรเองนี่แหละ! ย่อม ปรากฏเป็นเสมือนคนตาบอดโง่นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงปฏิเสธ สิ่งที่ไม่รู้ ไม่เห็น ว่าเทวดาไม่มี ไม่เชื่อว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์มีอายุยืน อันที่จริงเทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่และก็มีอายุยืนเช่นที่กำหนดไว้นั้น ตาสภาพที่ว่ามานี้ จะพึงเห็นได้ด้วยมังสจักษุ หรือ ตาเนื้อธรรมดาก็หามิได้

          สมณพราหมณ์ พวกใด เสพเสนาสนะอันสงัดในป่าเป็นผู้ไม่ประมาท เร่งเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนแจ้งชัดยังทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ มีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของสามัญมนุษย์ สมณพราหมณ์ย่อมแลเห็นทั้งโลกนี้โลกหน้า ย่อมแลเห็นเหล่าสัตว์ผู้อุบัติขึ้นทั้งหลาย ก็โลกหน้านั้นอันบุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยประการฉะนี้ มหาบพิตรหาเห็นได้ด้วยมัสจักษุ เช่นที่มหาบพิตรเข้าพระทัยก็หาไม่

รอผลที่สุกเอง

          พระเจ้า ปายาสิกล่าวว่า ถ้าท่านสมณพราหมณ์ผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ผู้เห็นทุกข์โทษของรูปนาม จักรู้แท้แน่แก่ใจว่า เมื่อเราตายไปจากโลกนี้แล้วผลแห่งคุณงามความดีของเราจักส่งผลให้ไปเกิดใน สุคติโลกสวรรค์จักได้เสวยสุขในทิพย์พิมานเป็นเทวดาแน่ๆ เมื่อรู้แท้เช่นนี้แล้ว ! จะอยู่ ต่อเป็นมนุษย์ให้ลำบากต่อไปทำไมเล่า ?” ทำไมไม่รีบดื่มยาพิษ เพื่อจะได้รีบตายแล้วไปเสวยสุขอยู่ ณ สรวงสวรรค์เร็วๆ เหตุที่ไม่รีบไปน่าจะเป็นเพราะตนไม่ค่อยแน่ใจว่าจะได้เสวยสุขเป็นเทวดา กระมัง ?”

          พระเถระจึงยกเรื่องราวมากล่าว ว่า

          มีพราหมณ์ผู้หนึ่งมีภรรยา ๒ คน คนแรกมีบุตรอายุได้ ๑๐ ปี แล้วก็ตายจากกันไปกะทันหัน ภรรยาคนใหม่กำลังตั้งครรภ์จวนจะคลอด ต่อมาพราหมณ์นั้นก็ได้ทำกาละตายไป มาณพน้อยอายุได้ ๑๐ ปี จึงพูดแก่แม่เลี้ยงว่า แม่จ๋า ! ทรัพย์สิน ข้าวของเงินทองของทั้งหมดนั้นต้องเป็นของฉัน ขอแม่จงมอบมรดกของบิดาให้แก่ฉันเถิด

          แม่เลี้ยงกล่าวว่า ที่ถูกนั้นเจ้าต้องรอไปก่อน รอจนกว่าแม่จะคลอดน้องเจ้าเสียก่อนเถิด ! ถ้าน้องเจ้าที่คลอดออกมาเป็นชาย เขาจักได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นหญิงก็จะได้เป็นบาทบริจาริกาของเจ้าเจ้ามาณพหาได้เชื่อฟังถ้อยคำไม่ ได้พูดจารบเร้าวันแล้ววันเล่า แม่เลี้ยงจ้าวโทสะขัดใจขึ้นมา จึงถือมีดเข้าไปในห้องนอน แหวะท้องในครรภ์ เพราะนางเป็นคนโฉดเขลาไม่ฉลาด ต้องการทรัพย์สินมรดกโดยอุบายอันไม่แยบคาย อุปมาข้อนี้ฉันใด

          หากมหาบพิตรจะเกณฑ์ให้สมณพราหมณ์ผู้มีศีล อยู่ในพระธรรมวินัยด้วยความเคารพบูชายิ่งให้รีบฆ่าตัวตาย เพื่อจะได้ทิพย์สมบัติในสวรรค์เร็วๆ ก็เหมือนกับ นางแม่เลี้ยงที่แหวะท้องตนเองตาย

          ใครคนไหน เขาจะโง่ได้ปานนั้นเล่า ! ขอมหาบพิตร จงเข้าพระทัยเถิดว่า สมณพราหมณ์ผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ย่อมเป็นผู้มีปกติย่อมไม่บ่มผลที่ยังไม่สุกให้รีบสุก และผู้เป็นบัณฑิตย่อมจะรอผลซึ่งจะสุกตามกาล อันชีวิตของสมณพราหมณ์ผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนานเท่าใด ท่านย่อมประสบบุญมากเท่านั้น และได้ปฏิบัติตนเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่กว่านาบุญทั้งหลายเป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน ผู้ยังสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากทุกข์สงสาร เพื่อความสุขสงบแก่หมู่คนเป็นอันมาก

          ความพยายามของ พระเจ้าปายาสิราช

          พระเจ้าปายาสิกล่าวว่า โยมได้ทดลองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น คราวหนึ่งเจ้าพนักงานของโยมจับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมาได้ จึงสั่งให้ลงโทษโดยจับใส่ลงในหม้อใหญ่ เอาหนังสดรัด แล้วเอาดินเหนียวพอกให้หนาแล้วยกขึ้นเตาไฟ เมื่อโจรนั้นตายแล้ว กะเทาะดินออก เปิดปากหม้อหวังจะเห็นชีวะของบุรุษนั้นบ้าง แต่ไม่เห็นชีวะของเขาเลย! จึง เป็นเหตุให้โยมมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดไม่มี ผลกรรมดี กรรมชั่ว ก็ไม่มี

          พระเถระขอถามมหาบพิตรบ้าง คือ

          มหาบพิตร เคยบรรทมกลางวัน สุบินได้เห็นสวนสระโบกขรณีบ้างหรือไม่?”

          เคยฝัน ท่านกัสสปะ !

          ใน เวลานั้น พนักงานที่ใกล้ชิด คอยเฝ้าปรนนิบัติมีอยู่บ้างไหม? และเขาได้เห็นด้วยหรือไม่เล่า?”

          เปล่าเลย ท่านกัสสปะ

          ขอถวายพระ พร ก็คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ยังมิได้เห็นชีวะของมหาบพิตรผู้ยังทรงพระชนม์ ชีพอยู่ เข้าหรือออกไป ก็เหตุแนมหาบพิตรจักได้ทอดพระเนตรเห็นชีวะของผู้ทำกาละไปแล้วเข้าหรือ ออกอยู่เล่า ? ขอถามมหาบพิตรผู้ปรารถนาความจริง จงทรงใคร่ครวญดูให้ดีๆ เถิด

          พระเจ้าปา ยาสิก็ถามอีกว่า อีกคราวหนึ่ง เอาตาชั่งมาชั่งโจรร้าย เอาเชือกรัดคอให้ขาดใจตาย ครั้นตายแน่แล้วจึงเอาตาชั่งมาชั่งอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อโจรร้ายนั้นยังมีชีวิตอยู่ ย่อมเบากว่า อ่อนกว่า แต่ว่าเมื่อเขาตายแล้ว กลับหนักกว่า กระด้างกว่า ไม่ควรแก่การงานกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด?”

          ขอ ถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษเอาตาชั่งชั่งก้อนเหล็กที่เผาไว้วันยังค่ำ ไฟติดทั่วลุกโพลงแล้ว ต่อมาเอาตาชั่งชั่งเหล็กนั้นซึ่งเย็นสนิทแล้ว ทั้ง ๒ ขณะนี้ ในขณะใด ? ก้อนเหล็กนั้นจะเบากว่า อ่อนกว่า หรือ ควรแก่การงานแก่การงานกว่า คือว่าไฟติดทั่วลุกโพลงอยู่แล้ว หรือว่าเมื่อเย็นสนิทแล้ว?” ขอมหาบพิตรจงโปรดพิจารณาดูเถิด !

          ท่านกัส สปะ ! เมื่อใดก้อนเหล็ก นั้นประกอบด้วยไฟ ประกอบด้วยลมไฟติดทั่วลุกโพลงแล้ว เมื่อนั้นย่อมจะเบากว่า อ่อนกว่า ควรแก่การงานกว่าเป็นธรรมดาแต่เมื่อใด ก้อนเหล็กนั้นไม่ประกอบด้วยไฟ ไม่ประกอบด้วยลม ดับเย็นสนิทแล้ว เมื่อนั้น ย่อมจะหนักกว่า กระด้างกว่า และไม่ควรแก่การงานกว่า เป็นแน่นอน

          เหมือน กันนั่นเอง มหาบพิตร ! คือ เมื่อใดกายนี้ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น และวิญญาณ เมื่อนั้นย่อมเบากว่า ควรแก่การงานกว่า ธรรมชาติเขาเป็นเช่นนั้น

          แต่ว่า เมื่อใดกายนี้ไม่ประกอบด้วย อายุ ไออุ่น และวิญญาณ เมื่อนั้นย่อมหนักกว่า กระด้างกว่า ไม่ควรแก่การงานกว่า ความจริงเป็นเช่นนี้ ขอถวายพระพร

          ท่านกัสสปะ ! อีกคราวหนึ่งโยมสั่งให้ลงโทษโจรร้ายมีความผิดขั้นอุกฤษฏ์ โดยการทรมานมิให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกชอกช้ำ เมื่อโจรนั้นเริ่มจะตาย สั่งให้ผลักโจรนั้นให้หงาย ด้วยหวังว่า บางทีจะเห็นชีวะของเขาออกมาบ้างแต่ก็มิได้เห็นชีวะของเขาออกมาเลย

          แม้ให้คว่ำ ลง ตะแคงขวา เอาศีรษะลงทุบด้วยฝ่ามือ ด้วยศาสตราวุธนานาประการ ลากไปลากมา

          ด้วยหวังจะได้เห็นชีวะของเขาออกไปบ้าง แต่ก็ต้องผิดหวัง! เพราะ กายของเขาอันนั้น โผฏฐัพพะก็อันนั้น แต่เขาจะรู้แจ้งโผฏฐัพพายตนะด้วยกายไม่ได้ การที่เห็นเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใดเล่า ? ท่านกัสสปะ ผู้เจริญ !

          ขอถวายพระพรมหาบพิตรบรรดาพระราชชามหากษัตริย์ต่างๆ ในประเทศทั้งหลาย เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นต้น และปวงชนพากันศรัทธาเคารพนับถือและร่ำลือทำนองว่า พระเจ้าปายาสิเป็นคนฉลาดเฉียบแหลมนัก สามารถคิดค้นจนพบว่าโลกหน้าไม่มี ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ลบล้างคำสอนของเหล่าสมณะพราหมณ์ทั้งหลาย สัตว์ผู้ผุดเกิดไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วย่อมไม่มี ย่อมรู้กันโดยทั่วไปอย่างนี้

          หากโยมจะ สละทิฏฐิอนลามกนั้นเสีย แล้วประกาศว่า โลกหน้ามี สัตว์ผู้ผุดเกิดมี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีดังนี้แล้วโยมจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน? ขอท่านกัสสปผู้ทรงธรรมอันน่าสรรเสริญจงเห็นใจโยมด้วยเถิด

          กลลวงพญายักษ์

          พระกัส สปเถระ หวังประโยชน์สุขภายภาคหน้าแก่พระเจ้าปายาสิ จึงเมตตาธรรมถวายพระพรเล่าว่า

          ยังมีพ่อ ค้าเกวียนหมู่ใหญ่แยกหมู่เกวียนออกเป็น ๒ หมู่ ๆ ละ ๕๐๐ เล่ม ลำดับนั้นนายกองเกวียนหมู่หนึ่งผู้โง่เขลา เรียกลูกเกวียนมาแล้วบอกว่า พวกเราทั้งหลายมีคนสวนทางมาและบอกว่า ในหนทางกันดารข้างหน้าฝนตกมาก หนทางน้ำมีบริบูรณ์ หญ้าฟืนก็มีมาก พวกเราจงทิ้งหญ้าน้ำและฟืนของเก่าเสียเถิด เกวียนเบาจากของหนักจักไปได้อย่างรวดเร็ว ! โคเทียมเกวียนจักไม่ลำบาก

          แต่พอไปถึงที่พักเกวียน ตำบลที่ ๑,๒ ก็ไม่พบน้ำหรือหญ้าฟืนเลย จนถึงตำบลที่ ๗ ก็หมดทั้งกำลังคนและโค ในที่สุดหมู่เกวียนที่น่าสงสารนั้นก็ถึงแก่ความตายด้วยกันทั้งหมด ไม่เหลือแม้มนุษย์หรือปศุสัตว์ เพราะชายอารีผู้บอกให้ทิ้งหญ้านั้น แท้จริงคือพญายักษ์ผู้อยากกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ จึงหลอกด้วยเล่ห์ให้หลงเชื่อจนพากันถึงแก่ความตาย ด้วยความอดอยากขาดอาหารแล้วพญายักษ์ร้ายก็มากินเนื้อจนเหลือแต่กระดูกเท่า นั้น

          ฝ่ายนายกองเกวียนหมู่หลัง ก็เจอบุรุษแปลกประหลาดคนเก่า แต่งตัวแบบเดิม คือ ทัดดอกโกมุทนุ่งผ้าเปียก ผมเปียก ขับรถคันงดงาม มีล้อเปื้อนโคลนตมเลอะเทอะสวนทางมาแนะนำให้ทิ้งน้ำ หญ้า และฟืนเสีย เพราะข้างหน้านั้นมีน้ำเยอะแยะ จะเอาไปให้หนักเกวียนทำไม ? นายกองเกวียนผู้ไม่ประมาท ประชุมกับลูกเกวียน แล้วประกาศว่า ชายแปลกหน้านี้มิใช่มิตร มิใช่ญาติ พวกเราจักเชื่อถือได้อย่างไรกันว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนในภายหลัง? ซึ่งตามธรรมดาฝนจะตก จะต้องมีเมฆฝนตั้งขึ้นก่อน

          จงอย่าทิ้ง หญ้า ฝืน และน้ำอันเป็นของจำเป็นนั้นเลย และแล้วก็จับโกหกของมนุษย์เจ้าเล่ห์ได้ เพราะว่าพวกเขาขับเกวียนมาถึงที่พักเกวียนตำบลที่ ๑,๒ ก็พบแต่ความกันดาร จนถึงตำบาลที่ ๗ ได้เห็นกองกระดูกของมนุษย์และปศุสัตว์มากมายกระจายอยู่ พร้อมกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ที่ล่วงหน้ามาก่อน ที่ถึงความวอดวายเพราะถูกอมนุษย์หลอกให้มาตาย และจับกินเป็นอาหารโอชะเสียแล้ว

          เรื่อง นี้เคยมีมาแล้วดังนี้ ขอมหาบพิตรจงวินิจฉัยให้จงดี ! อย่าเป็นเสมือนพวกเกวียนบริวาร ถูกนายกองเกวียนพาไปสู่ความวอดวาย ต้องตายไป โดยมีกายตกเป็นเหยื่อโอชะแห่งอมนุษย์เจ้าเล่ห์อย่างมากมายฉะนั้น

          ด้วย เหตุนี้ขอมหาบพิตรผู้ไพบูลย์ จงสละละทิ้งปล่อยวางทิฏฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ขอทิฏฐิอันลามกนั้นอย่าได้มีแก่มหาบพิตรเลย เพราะมิใช่ประโยชน์ แท้จริงคือ เพื่อความทุกข์ตลอดสิ้นกาลนาน ขอถวายพระพร

บุรุษทูนห่อคูถบนศีรษะ

ขอถวายพระพร บพิตรพระราชสมภาร ! ดังได้สดับมา มีบุรุษเลี้ยงสุกรคนหนึ่ง เห็นคูถแห้งเป็นอันมาก ณ ที่ใกล้บ้าน จึงคิดว่าเราจะขนอุจจาระนี้ไปให้สุกรของเราดีกว่า แล้วเขาก็เอาผ้าห่มลงโกยเอคูถแห้งผูกให้เป็นห่อแล้วทูนศีรษะเดินไป ระหว่างทางเกิดฝนตกหนัก เนื้อตัวเขาเปรอะเปื้อนตลอดถึงปลายเท้า ชาวบ้านผู้หนึ่ง ร้องตะโกนบอกเพื่อนๆว่า เจ้าคน นั้นท่าจะเป็นบ้าแน่ๆ ทูนห่อคูถไว้บนหัวจนเปรอะเปื้อนตลอดถึงปลายเท้า แปลกมนุษย์แท้ๆชายผู้โง่เขลานั้นก็ได้แต่นั่งทอดถอนใจด้วยความเสียใจที่ต้องเสียเวลาแบกห่อ คูถมาแต่ไกล ทั้งต้องทนเหม็นเป็นหนักหนา ! ทั้งกายา เนื้อตัวก็สกปรกเปรอะเปื้อนไปหมด ทั้งได้รับความอัปยศอดสูถูกหาว่าเป็นบ้า ทั้งการนั้นก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรด้วยเลย ?”

นี่แหละ! การที่มหาบพิตรยังจะยึดถือเอาทิฏฐิ ไว้นั้น ก็น่าจะปรากฏเหมือนดังบุรุษผู้ทูนห่อคูถ ฉะนั้น

มรณะเพราะยาพิษ

พระเถระทรงพระเมตตาถวายพระพรต่อไปว่า

มี นักเลงสกา ๒คน คนหนึ่งมีสันดานเป็นคนโกง แอบกลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วมาเสีย ได้รับชัยชนะทุกครั้งไป เพื่อนที่เล่นด้วยกันเห็นการโกงเช่นนั้น จึงแอบเอายาพิษทาที่ลูกสกานั้นแล้วก็ชักชวนมาเล่นกันใหม่ นักเลงสกาไม่ทราบ ก็แอบกลืนกินเบี้ยแพ้ที่แล้วมาเสียตามเดิม นักเลงสกาคู่เล่นจึงพูดขึ้นว่า บุรุษผู้กลืนกินลูกสกาอาบยาพิษมีฤทธิ์กล้า ยังหารู้สึกไม่? นักเลงสกาพาลชนผู้น่าสงสารได้กลืนยา พิษเข้าไป ความเร่าร้อนทุรนทุรายเจ็บปวดทรมานภายใน จักต้องมีอย่างแน่นอน!

ขอถวายพระพรพระมหาบพิตร ! การที่มหาบพิตรผู้ปรารถนาจะทราบความ จริงของโลกนี้โลกหน้า ยังยึดถือทิฏฐิอันลามกที่ว่าโลกหน้าไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีนั้น ก็น่าจะเปรียบเหมือนกับนักเลงสกาสันดานโกง ซึ่งกินยาพิษเข้าไปโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น



ทิฏฐิแห่งบุรุษโง่

พระเถระถวายพระพรต่อไปว่า เรื่องเคยมี มาแล้ว คือ ยังมีชายสองคน เขารักกันมาก ได้เห็นเปลือกป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย สหายคนหนึ่งจึงชวนให้ถือเอาไปคนละมัด ครั้นได้เห็นด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย สหายคนหนึ่งจึงบอกให้เลือกเอามัดด้ายป่านไปดีกว่า แต่สหายของเขาคิดประหลาด! กลับตอบว่า มัดเปลือกป่านนี้เรานำมาไกลแล้ว ด้วยความเหนื่อยนัก ทั้งก็มัดไว้เรียบร้อยดีแล้วด้วย เราไม่เอาด้ายป่าน เราจะเอาเปลือกป่านของเก่านี่แหละ

สหายคนที่หนึ่งจึงทิ้งเปลือกป่าน ถือเอาด้ายป่านไปเพียงผู้เดียว เมื่อไปยังตำบลต่างๆ ได้พบเห็นเปลือกไม้โขมะ-ด้ายเปลือกไม้โขมะ-ผ้าเปลือกไม้โขมะ-ลูกฝ้าย-ด้าย- ฝ้าย-ผ้าฝ้าย เหล็ก-โลหะ-ดีบุก-สำริด-เงิน และในที่สุดได้มีโอกาสพบทองคำมากมาย สหายคนที่หนึ่งจึงบอกว่า

สหาย รัก นี่! ทองคำมีค่ามากมาย เราทั้งสองจักนำทองคำเหล่านี้กลับไปบ้านเรากันดีกว่าแต่สหายผู้ไม่ฉลาดของเขาว่า สหายเอ๋ย! มัดเปลือก ป่านนี้ เราอุตส่าห์แบกมาไกลหนักหนา ทั้งมัดไว้ดีแล้วด้วย เราไม่เอาละทองคำ แต่เราจะเอาเปลือกป่านอนเดิมของเรานี่แหละ!

เมื่อกลับถึงบ้าน สหายคนที่ถือเอาทองคำกลับมาบ้าน ได้รับการต้อนรับจากบิดามารดาและบุตรภรรยาด้วยความยินดี มีความสุขโสมนัส เหตุที่ถือเอาห่อทองคำนั้นมาเป็นอันมาก ส่วนสหายของเขาผู้ซึ่งถูกปีศาจความโง่เขลาเข้าครอบงำ มีทิฏฐิอันลามก อุตส่าห์แบกมัดเปลือกป่านมาไกลแสนไกล พอกลับถึงบ้านก็ไม่ได้รับการต้อนรับจากบิดามารดาและบุตรภรรยาด้วยความยินดี เลย ไม่ได้รับความโสมนัส จากเหตุที่ได้มัดเปลือกป่านอันไร้ค่านั้นแม้แต่น้อย ยังคงยากจนต่อไปอีกตามเดิม

นี่แหละ มหาบพิตรผู้มาด้วยความหลง ยังจะยึดถือทิฏฐิอันลามกดั้งเดิมว่า โลกหน้าไม่มี สัตว์ผุดเกิดไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีก็เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้โง่เขลา ซึ่งแบกเอามัดเปลือกไม้เปลือกป่านกลับบ้าน ขอมหาบพิตร จงสละคืนทิฎฐิอันลามกนั้นเสียเถิด จงปล่อยวางทิฎฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฎฐิอันลามกนั้นจงอย่าได้มีแก่มหาบพิตร เพราะมิใช่ประโยชน์แต่จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดกาล ขอถวยพระพรปายาสิอุบาสก

           ธรรมดาท่านผู้มีบุญวาสนาที่เป็นนักปราชญ์ฉลาดในสัจธรรมนั้น ย่อมยินดีเคารพในเหตุผล พอใจที่จักได้สดับในเหตุผลมิรู้เบื่อ พระเจ้าปายาสิก็เช่นกัน ในที่สุดก็ตรัสว่า

          ภาษิต ของท่านแจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยความคิดว่า ผู้มีดวงตาจักเห็นได้ ฉันใด ท่านกัสสปะประกาศสัจจะธรรมอันประเสริฐโดยอเนกบรรยายก็เป็นเช่นนั้นเหมือน กัน

          โยมนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าปายาสิผู้สัมมาทิฏฐิเริ่มให้ทานแก่สมณะพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจกอนาถา แต่ในทางนั้นได้สั่งให้บริจาคแต่สิ่งที่ไม่ประเสริฐ โดยแต่งตั้งมาณพนามว่า อุตรมาณพเป็นเจ้าหน้าที่ในการบริจาคโดยเฉพาะ

          อุตร มาณพผู้นี้ เป็นคนมีใจศรัทธา ยินดีในการบริจาคทานยิ่งนัก เมื่อเขาจำต้องบริจาคสิ่งของอันมีค่าต่ำตามคำสั่งของพระเจ้าปายาสิผู้เป็น จ้าวเหนือหัวเช่นนั้นก็ให้ขัดใจอยู่ เมื่อเขาให้ทานเสร็จ จึงตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงค์แห่งทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าร่วมกับพระเจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกันในโลกหน้าเลย

          เพราะเหตุ ที่อุตรมาณพเป็นผู้ยินดีในการบริจาคทาน ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้ทานด้วยความนอบน้อม มิได้ให้ทานอย่างเสียมิได้ เมื่อตายไปได้เกิดเป็นเทพบุตรสุดโสภา เสวยทิพย์สมบัติอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

     ส่วนพระเจ้าปายาสินั้นมิทรงให้ทานโดย เคารพ มิได้ทรงให้ทานด้วยพระหัตถ์แห่งพระองค์เอง มิได้ทรงให้ทานด้วยความนอบน้อม แต่ทรงให้ทานอย่างเสียมิได้ ทั้งๆที่ทรงบริจาคทรัพย์ให้ทานเป็นอันมากก็ตาม ถึงกระนั้นทานของพระองค์ ก็ถึงการนับว่าเป็นทานที่ด้อยไปด้วยเจตนา (อันเป็นบุญกุศล) ครั้นสิ้นพระชนม์ไปเกิดเป็นเทพบุตร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ สถิตอยู่ ณ เสรีสกวิมาน ซึ่งเป็นเทพชั้นต่ำโดยศักดา ด้อยบุญญานุภาพกว่าอุตรมาณพ (บ่าวของพระองค์ผู้ซึ่งตั้งใจทำบุญ ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันแสนสุข)

     พระเจ้าปายาสิราช บัดนี้มาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรเสวยแต่ความสุขล้วนๆ อยู่ ณ เสรีสกวิมานนี้ ได้เล่าให้พระควัมปติเถระเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์พุทธสาวกฟังว่า

     เมื่อ ก่อนข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ เป็นผู้มีความเห็นผิด ต่อมาพระผู้เป็นเจ้ากุมารกัสสปเถระ ผู้มีปัญญาเลิศมากด้วยความเกื้อกูล กรุณาไถ่ถอนข้าพเจ้าออกจากทิฏฐิอันลามก แสดงตนเป็นอุบาสกให้ทานแก่สมณะพราหมณ์ ท่านควัมปติผู้เจริญ ! เมื่อพระคุณเจ้ากลับลงไปยังโลก มนุษย์โลกแล้ว ขอได้โปรดชี้แจงแก่ชาวมนุษย์ทั้งหลายว่า จงให้ทานโดยเคารพ จงให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานด้วยความนอบน้อมเสมอ จงอย่าให้ทานอย่างเสียมิได้

     พระเจ้าปายาสิราชมิได้ให้ทานโดยเคารพ มิได้ให้ทานด้วยมือของตน มิได้ให้ทานด้วยความนอบน้อม เมื่อแตกกายทำลายขันธ์แล้ว ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเพียงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ฝ่ายว่าอุตรมาณพซึ่งเป็นบ่าวมีหน้าที่บริจาคทาน แทนพระเจ้าปายาสิผู้เป็นเจ้านาย เขาให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของเขา ให้ทานด้วยความนอบน้อม มีจิตตั้งมั่นในอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย ครั้นเขาตายแล้ว ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร สุดประเสริฐ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขอพระคุณเจ้าจงโปรดกรุณาแจ้งข่าวนี้แก่ชาวมนุษย์ทั้งหลายด้วยเถิด

          ลำดับ นั้น เมื่อท่านพระควัมปติเถระเจ้าลงจากเสรีสกวิมานมาถึงโลกมนุษย์นี้แล้ว ก็แจ้งข่าวนี้แก่มนุษย์ทั้งหลาย บรรดาผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาพากันบริจาคทานโดยเคารพ ตั้งมั่นอยู่ในศีล เว้นทุจริตกาย วาจา ใจ เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เห็นทุกข์และโทษของความโลภ โกรธ หลง ในสังขารของตนเองและผู้อื่น มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยว มีสุคติภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้ามากกว่ามาก โดยทั่วกัน ทุกตนต่างมีจิตใจอิ่มเอิบเบิกบานผ่องใส มีใจชื่นชมยินดีมิรู้เบื่อในกองการกุศลกรรมทั้งปวง