วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อรกานุสาสนี


๒. อรกานุสาสนี



อดีตกาล ท่านอรกศาสดาเป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความยินดีในกาม พร่ำสอนสาวกว่า หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อพระอาทิตย์อุทัยแล้วย่อมแห้งหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ก็เป็นเช่นหยาดน้ำค้างนั้น เป็นชีวิตอันสั้น มีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว ทุกข์คับแค้นมาก ฉะนั้น ท่านทั้งหลายควรบำเพ็ญกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะว่าสัตว์ที่เกิดแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี เมื่อฝนตกหนัก ฟองน้ำที่ตั้งขึ้นย่อมแตกกระจายไปเร็ว ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ชีวิตมนุษย์ก็เช่นกับฟองน้ำ อุปมาเหมือนดังกับรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉะนั้น


น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล มีกระแสไหลเชี่ยวกราก พัดพาซึ่งสรรพสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้ ไม่มีเวลาแม้สักชั่วครู่หนึ่งที่มันจะหยุด น้ำที่ไหลลงจากภูเขามีแต่ละไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว ไม่มียั้ง ชีวิตอันไม่ยั่งยืนของมนุษย์ก็อุปมาเหมือนกับน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉะนั้น


บุรุษมีกำลังอมก้อนน้ำลายไว้ที่ปลาย ลิ้นแล้วพึงถ่มน้ำลายนั้นไปโดยง่ายดาย ชีวิตของมนุษย์ตายง่ายดับง่าย อุปมาเหมือนก้อนน้ำลายที่จะถ่มได้โดยง่าย ฉะนั้น


ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงนาบในกระทะเหล็ก ถูกไฟเผาอยู่ตลอดวัน ย่อมถึงความย่อยยับโดยเร็ว มิได้ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์อุปมาชิ้นเนื้อที่ถูกเผาไฟอยู่ตลอดวัน ฉะนั้น


แม่โคที่กำลังจะถูกเชือดถูกต้อนไป สู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้ที่ฆ่า ใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ ชีวิตของมนุษย์อุปมา เหมือนดังแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่า ฉะนั้น


ฉะนั้น ยุคของท่านอรกศาสดา เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุยืนนานถึง ๖๐,๐๐๐ ปี มนุษย์ต่างมีชีวิตอยู่อย่างผาสุก มิค่อยจะเจ็บจะตายกันลงไปง่ายๆ เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บน้อยนิด โรคาพาธมีอยู่เพียง ๖ ชนิดคือ


๑. เย็น ๒. ร้อน ๓. หิว ๔. กระหาย ๕. ปวดอุจจาระ ๖. ปวดปัสสาวะ


โรคอื่นๆ ไม่มี ชีวิตอยู่อย่างแสนสุขสำราญ ไร้ความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่มีโรคภัยมาแผ้วพานเลย สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเล่าเรื่องท่านอรกศาสดาจบลงแล้ว จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสต่อไปอีกเป็นใจความว่า ที่ถูกต้องควรจักกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย มีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงทราบชัดในเรื่องนี้ได้ด้วยปัญญา ควรพากันบำเพ็ญกุศล พากันประพฤติพรหมจรรย์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายนั้น ย่อมไม่มีเลยในโลกนี้หรือแม้ในโลกไหนๆ




ดูกร ! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้คนที่มีอายุยืนอยู่ได้นานก็ประมาณเพียง ๑๐๐ ปี หรือน้อยกว่าบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี ย่อมมีโอกาสอยู่ได้ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐ ที่มีอายุยืนถึง ๓๐๐ ฤดูนั้น ย่อมมีโอกาสอยู่ได้ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน

คนที่มีอายุยืนถึง ๑,๒๐๐ เดือนนั้นย่อมมีโอกาสอยู่ได้ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน คนที่มีอายุยืนถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือนนั้น ย่อมมีโอกาสอยู่อย่างสันติได้ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี คนที่มีอายุยืนถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรีนั้นย่อมมีโอกาสได้บริโภคอาหารอันมีรสชาติที่ตนปรารถนา ๗๒,๐๐๐ มื้อ คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ มื้อ


ดูกร ! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ ประมาณแห่งอายุ ฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี เวลาการบริโภคอาหารแห่งมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ไว้ด้วยประการดังนี้แล้ว กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดูจะพึงกระทำแก่เหล่าสาวก กิจนั้นๆ เราตถาคตได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย


ดูกร ! เธอผู้เห็นภัย นั่นป่าเปลี่ยว นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่ามีจิตประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย ! นี่คืออนุศาสนีแห่งเราเพื่อเธอทั้งหลาย ตราบใดที่ยังตัดกิเลสไม่ได้ ยังติดอยู่ในจิตสันดาน สามัญสัตว์ย่อมมีชีวิต คลุกเคล้าอยู่กับตัณหา ด้วยความหลงทุกเวลานาที อันเป็นสิ่งชั่วร้าย


เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปใน อำนาจแห่งตัณหาดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพน้อยใหญ่ ย่อมดิ้นรนร่ำไร ใกล้ปากมฤตยูเข้าไปทุกที

ชีวิตย่อมจะมีการดิ้นรน กระเสือกกระสนกระสับกระส่ายด้วยความดิ้นรนเพราะทิฎฐิ กิเลส กรรมทุจริต ด้วยราคะของผู้กำหนัด โทสะของผู้ขัดเคือง โมหะของผู้หลงใหล มานะเป็นเครื่องผูกพัน ความฟุ้งซ่านที่ฟุ้งเฟ้อ ความสงสัยที่ไม่แน่ใจ ลาภและความเสื่อมลาภ ยศและความเสื่อมยศ สุขและทุกข์ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ด้วยทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของคนอื่น ด้วยทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ด้วยทุกข์ที่เกิดจากความแปรปรวน ด้วยทุกข์เพราะโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงรา โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคละลอก โรคคุดทะราดหน่อ โรคอาเจียน โรคโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง ด้วยอาพาธ มีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาด อาพาธเกิดแต่ฤดูอันเป็นธรรมชาติ


อาพาธเกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรม ความหนาวความร้อน ความหิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ด้วยทุกข์อันเกิดแต่สัมผัสแห่งสัตว์เบียดเบียน ตัวเหลือบ ยุง ริ้น ไร และ สัตว์เลื้อยคลาน มีงูเป็นต้น ด้วยความทุกข์เพราะความตายแห่งบิดา มารดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว บุตร ธิดา ภริยา สามี ทั้งญาติมิตรด้วย ทุกข์เพราะความพินาศแห่งโภคทรัพย์พินาศอันเกิดแต่โรค พินาศแห่งศีล พินาศแห่งทิฏฐิมานะ



พระพุทธฎีกาที่ว่า สัตว์ที่เกิดมาย่อมมีภัยโดยความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยโดยการหล่นไปในเวลาเช้าฉะนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกสลายไปในที่สุด ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็มีอุปมาเหมือนฉะนั้น มนุษย์ ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งโง่เขลา ทั้งเฉลียวฉลาด ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู มีมัจจุราชสกัดอยู่ข้างหน้า


เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกมัจจุราชสกัด อยู่ข้างหน้าแล้ว ถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว บิดาก็ต้านไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติที่รักยิ่งก็ต้านทานไม่ได้ มนุษย์ทั้งหลายย่อมจักถึงความตาย ทั้งๆที่พวกญาติกำลังแลดูอยู่ และกำลังรำพันกันอยู่เป็นอันมากนั่นเอง แลไม่มีใครเลยที่จะช่วยแก้ได้


ดูกร! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อยนัก มนุษย์จำต้องละไปสู่ปรโลก มนุษย์จำต้องประสบกับความตายตามที่เป็นกันแล้วนั้นมนุษย์ทั้งหลายจึงควร บำเพ็ญกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะมนุษย์ที่ได้เกิดมาแล้วจะไม่ตายเลยนั้น ย่อมไม่มี



ดูกร! เธอผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย มนุษย์ใดมีอายุอยู่ได้ยืนนาน มนุษย์นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี เกินกว่า ๑๐๐ ปี นั้นมีน้อยนัก บัดนี้ พระอัยยิกาของหม่อมฉันผู้ทรงชรา พระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา ได้เสด็จทิวงคตลงเสียแล้ว อันเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของหม่อมฉัน ! พระอนุสาสนีของพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีมรณะเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นที่สุดไม่ล่วงพ้นมรณะไปได้เลย ย่อมเป็นพระอนุสาสนีสร้างสาระคุณให้ได้ปัญญาถูกต้องที่สุดแล้ว พระเจ้าข้า



สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้มีบุญเลิศทรงลุถึงธรรมอันบริสุทธิ์ มีพุทธฎีกาตรัสว่า ย่อมเป็นเช่นนั้น มหาบพิตร ! สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ขอถวายพระพร มหาบพิตร ! ภาชนะดินชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งที่ดิบ ทั้งที่สุก ภาชนะดินเหล่านั้นทั้งหมดมีความแตกไปเป็นธรรมดา มีความแตกเป็นที่สุด ไม่ล้วงพ้นความแตกไปได้ อุปมานี้ฉันใด ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็เช่นกัน ย่อมมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุดรอบ ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย


สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้อง ตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายต้องไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือ ผู้มีกรรมเป็นบาปจักต้องไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญจักไปสู่สุคติ เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาพึงเลือกกระทำกรรมดีงาม สั่งสมบุญไว้เพราะบุญทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวงในปรโลก


ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เราตถาคตผู้ข้ามพ้นวัฏฏะแล้ว จะบอกความนี้ให้มหาบพิตรทรงทราบ คือว่า ชราและมรณะ ย่อมครอบงำพระองค์เป็นเสมือนบรรพตภูเขาสูงใหญ่เทียมเมฆที่ยกอุปมานั่นแลก็ เมื่อชราและมรณะครอบงำพระองค์อยู่อย่างนี้แล้ว อะไรเล่าที่จะพึงเป็นกิจซึ่งมหาบพิตรควรกระทำในกาลบัดนี้ ?”


เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ทรงชี้มหาภัย อันจักบังเกิดแก่พระชนม์ชีพของพระองค์ทรงยกเอาบรรพตภูผา มาเปรียบเทียบกับชรามรณะเช่นดังกล่าวมาแล้ว องค์ราชาธิราชได้ทรงสดับแล้วก็ซาบซึ้ง

สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงบรมสุขตรัสว่า ภูเขาใหญ่ศิลาล้วนสูงจรดท้องฟ้า กลิ้งบดขยี้ปวงสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ อุมานี้ฉันใด ชราและมรณะก็เป็นเช่นนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะมูลฝอย ไม่เว้นใครๆไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชัยชนะ เพราะการรบด้วยมนตราหรือด้วยทรัพย์ใดๆ


เพราะเหตุนี้แล ! คนที่เป็นบัณฑิต มีปรีชา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า ตั้งศรัทธาไว้ในพระธรรม ตั้งศรัทธาไว้ในพระสงฆ์ ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา ใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้เป็นแน่แท้ และเมื่อผู้นั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมจะระรื่นบันเทิงใจในสรวงสวรรค์เป็นสุคโต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น