วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วินัยมุขเล่ม ๒ นักธรรมโท หน้า ๕๒ ถึง ๗๓ วัตร


นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 52

                                      กัณฑ์ที่  ๑๔

                                          วัตร

           ขนบ  คือแบบอย่าง  อันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ  ในที่

นั้น ๆ  ในกิจนั้น ๆ  แก่บุคคลนั้น ๆ  ในบาลีท่านจัดไว้เป็นหมวด ๆ

นี้เรียกว่าวัตร.  ภิกษุผู้เอาใจใส่ประพฤติวัตรนั้น ๆ  ให้บริบูรณ์  ได้ชื่อว่า

" อาจารสมฺปนฺโน "   ผู้ถึงพร้อมด้วยมารยาท  หรือ   " วตฺตสมฺปนฺโน "

ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร  เป็นคู่กับคุณบทว่า   " สีลสมฺปนฺโน "   ผู้ถึง

พร้อมด้วยศีล  ท่านสรรเสริญไว้ในพระธรรมวินัย.  ในที่นี้จักกล่าว

เพียงวัตร  อันยังจะพึงใช้ในกาลนี้แต่โดยใจความ  เพื่อสะดวกแก่

การถือเอาอย่างปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์จริง ๆ  ในที่นี้  จักจำแนก

วัตรเป็น ๓  คือ  กิจวัตร ว่าด้วยกิจอันควรทำ ๑   จริยาวัตร  ว่าด้วย

มารยาทอันควรประพฤติ ๑  วิธิวัตร  ว่าด้วยแบบอย่าง ๑.

                                           กิจวัตร

           ๑.  ภิกษุผู้สัทธิวิหาริก ควรเอาใจใส่อุปัฏฐากอุปัชฌายะของ

ตน  ตลอดกาลที่อาศัยท่านอยู่.  ในบาลี  จาระไนกิจไว้เป็นอย่าง ๆ

ย่นแสดง  ดังนี้ :-

           ก.  เอาใจใส่ในการอุปัฏฐากท่าน  ในกิจทุกอย่าง.  ในบาลี  ยก

การถวายน้ำบ้วนปาก น้ำล้างหน้าและไม้มีฟัน  ขึ้นแสดงเป็นเบื้องต้น.

           ข.  หวังความศึกษาในท่าน.

           ๕.  ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมความเสีย  อันจักมี




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 53

หรือได้มีแล้วแก่ท่าน.  ในบาลีแสดงอาการระงับความกระสัน  ความ

เบื่อหน่าย  และปลดเปลื้องความเห็นผิดของท่าน  เอาธุระในการ

ออกจากครุกาบัติของท่าน  ขวนขวายเพื่อสงฆ์  งดโทษที่จะลงแก่ท่าน

หรือเพื่อผ่อนเบาลงมา.

           ฆ.  รักษาน้ำใจท่าน ไม่คบคนนอกให้เป็นเหตุแหนง.  ในบาลี

แสดงว่า  จะทำการรับ  การให้เป็นต้น  กับคนเช่นนั้น บอกท่านก่อน

ไม่ทำตามลำพัง.

           ง.  เคารพในท่าน.  ในบาลี  แสดงการเดินตามท่าน  ไม่ชิดนัก

ไม่ห่างนัก และไม่พูดสอดในขณะท่านกำลังพูด  ท่านพูดผิด  ไม่ทัก

หรือค้านจัง ๆ  พูดอ้อมพอท่านได้สติรู้สึกตัว.

           จ.  ไม่เที่ยวเตร่ตามอำเภอใจ จะไปข้างไหนลาท่านก่อน.

           ฉ.  เมื่อท่านอาพาธ  เอาใจใส่พยาบาล ไม่ไปข้างไหนเสียกว่า

ท่านจะหายเจ็บหรือมรณะ.

           ๒.  ภิกษุผู้อุปัชฌายะ  ควรมีใจเอื้อเฟื้อในสัทธิวิหาริกของตน

ตลอดกาลที่เธออาศัยอยู่  ย่นแสดงโดยใจความดังนี้ :-

           ก.  เอาธุระในการศึกษาของสัทธิวิหาริก.

           ข.  สงเคราะห์ด้วยบาตรจีวรและบริจาคอย่างอื่น  ถ้าของตน

ไม่มี  ก็ขวนขวายหา.

           ค.  ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อม  ความเสีย  อัน

จักมี หรือได้มีแล้วแก่สัทธิวิหาริก  ดังกล่าวแล้วในกรณียะของ

สัทธิวิหาริก.




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 54

           ฆ.  เมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ  ทำการพยาบาล.

           วัตรอันอาจารย์และอันเตวาสิกจะพึงประพฤติแก่กัน  พึงรู้โดย

นัยนี้.

           ๓.  ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะไปสู่อาวาสอื่น  พึงประพฤติให้สมเป็น

แขกของท่าน  ด้วยอาการดังนี้ :-

           ก.  ทำความเคารพในท่าน.  ในบาลี  แสดงความข้อนี้ไว้ว่า  พอ

จะเข้าเขตวัด  ถอดรองเท้า  ลดร่ม  เปิดคลุมศีรษะ  [ ในบัดนี้

ลดจีวรเฉวียงบ่า ]  เข้าไปสู่สำนักเจ้าของถิ่นก่อน  ไหว้เจ้าของถิ่น

ผู้แก่กว่าตน.

           ข.  แสดงความเกรงใจเจ้าของถิ่น.  ในบาลี  แสดงความข้อนี้

ไว้ว่า  เห็นเจ้าของถิ่นกำลังทำธุระ เช่นกวาดลานพระเจดีย์  หรือ

ทำยาแก่ภิกษุไข้  เธอละกิจนั้นมาทำการต้อนรับ  บอกเธอทำให้เสร็จ

ก่อน.  กล่าวอนุโลมนัยนี้  เมื่อเข้าไป  เห็นเจ้าของถิ่นกำลังมีธุระ

อย่างนั้น รอให้เสร็จก่อนจึงเข้าไปหา ถ้าเธอต้องพักงานไว้  อย่าอยู่

ให้นาน.

           ค.  แสดงอาการสุภาพ  จะเข้าไปในที่อันไม่ควรเหยียบย่ำ

ด้วยเท้าเปื้อน  ถ้าเท้าเปื้อนมา  ล้างเท้าเสียก่อนจึงเข้าไป  ถือเอา

อาสนะอันสมแก่ตน  ซึ่งเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่  หรือเสมอกับเจ้า

ของถิ่น.

           ฆ.  แสดงอาการสนิทสนมกับเจ้าของถิ่น.  ในบาลี  แสดงความ

ข้อนี้  ด้วยต้องการน้ำฉันก็ฉัน ต้องการน้ำใช้ก็ใช้. อนุโลมนัยนี้




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 55

เจ้าของถิ่นทำปฏิสันถาร  ก็รับ  ไม่แสดงอาการรังเกียจ.

           ง.  ถ้าจะอยู่ที่นั่น  ควรประพฤติให้ถูกธรรมเนียมของเจ้าของ

ถิ่น. ในบาลี  จึงให้ถามถึงเสนาสนะอันถึงแก่ตน ถามถึงโคจรคาม

ไกลใกล้  จะพึงเข้าไปเล้าหรือสาย  บ้านไหนมีจำกัดของหรือมีจำกัด

ภิกษุ  ถามถึงที่อโคจรเป็นต้นว่า  บ้านมิจฉาทิฏฐิ  ที่อันประกอบด้วยภัย

ถามถึงที่ถ่ายเว็จ  ที่ถ่ายปัสสาวะ  สระน้ำ  และกติกาสงฆ์.

           จ.  ถือเสนาสนะแล้วอย่าดูดาย เอาใจใส่ชำระปัดกวาดให้หมด

จด  จัดตั้งเครื่องเสนาสนะให้เป็นระเบียบ.

           ๔.  ภิกษุผู้เป็นเจ้าของถิ่น  เมื่อมีอาคันตุกะไปสู่สำนัก  พึง

ต้อนรับโดยสมควร  ด้วยอาการดังนี้ :-

           ก.  เป็นผู้หนักในปฏิสันถาร.  ในบาลี  แสดงความข้อนี้ว่า

กำลังทำจีวร หรือนวกรรมอยู่ก็ดี  กำลังกวาดลานพระเจดีย์อยู่ก็ดี

กำลังทำยาแก่ภิกษุไข้ไม่หนักก็ดี  ให้งดการนั้นไว้พลาง  มาต้อนรับ

อาคันตุกะ  เว้นไว้แต่กำลังทำยาแก่ภิกษุไข้หนัก  ให้รีบทำให้เสร็จ

ก่อน.

           ข.  แสดงความนับถือแก่อาคันตุกะ.  ในบาลี  แสดงความข้อนี้

ด้วยทำปฏิสันถาร  ตั้งน้ำล้างเท้าเครื่องเช็ดเท้า  ตั้งหรือปูอานสนะให้นั่ง

ถามด้วยน้ำฉันน้ำใช้.

           ค.  ทำปฏิสันถารโดยธรรม  คือให้สมแก่ภาวะของอาคันตุกะ.

ในบาลี  แสดงความข้อนี้ไว้ว่า  ถ้าอาคันตุกะแก่กว่าตน ลุกไปรับ

บาตรจีวรไหว้ท่าน  ถ้ามีแก่ใจก็ช่วยเช็ดรองเท้าให้ด้วย  เอาน้ำมัน




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 56

ทาเท้าให้  และพัดให้ท่าน.  ถ้าอาคันตุกะอ่อนกว่าตน  ก็เป็นแต่บอก

อาสนะให้นั่ง  บอกให้น้ำฉันน้ำใช้  ให้เธอถือเอาฉันเอาใช้เอง  [ ใน

บัดนี้  สั่งให้ผู้อื่นทำให้เป็นการสมควร ].

           ฆ.  ถ้าอาคันตุกะมาเพื่อจะอยู่ที่วัด เอาใจเอื้อเฟื้อ  แสดง

เสนาสนะให้  ถ้ามีแก่ใจ  ช่วยปัดกวาดให้ด้วย  บอกที่ทางและกติกา-

สงฆ์ให้รู้  ตามข้อที่อาคันตุกะจะพึงถาม  อันกล่าวแล้วในอาคันตุก-

วัตรนั้น.

           ๕.  ภิกษุผู้จะไปอยู่   ที่อื่น  พึงประพฤติดังนี้ :-

           ก.  เก็บงำเสนาสนะ  ถ้าเห็นหลังคารั่วหรือชำรุด  อาจมุง

อาจซ่อมได้  ทำให้เสร็จก่อน ถ้ารกหรือเปรอะเปื้อนชำระให้สะอาด

ก่อน  เก็บเครื่องเสนาสนะ  คือ  เตียงตั่งฟูกหมอน  และเครื่องใช้ไว้

ให้เรียบร้อย  อย่าทิ้งให้เกลื่อนกลาด  ให้พ้นอันตราย  ปิดหน้าต่าง

ประตูลั่นดาลหรือกุญแจ.

           ข. บอกมอบคืนเสนาสนะแก่ภิกษุผู้เป็นเสนาสนคาหาปกะ  ถ้า

ไม่มี  บอกแม้แก่เพื่อนภิกษุผู้อยู่ด้วยกัน  ถ้าตนอยู่รูปเดียว  บอกแก่

หัวหน้าทายกหรือแก่นายบ้าน.

           ค.  บอกลาท่านผู้ที่ตนพึ่งพำนักอยู่  กล่าวคืออุปัชฌายะ  หรือ

อาจารย์ผู้ให้นิสัย.  ในบัดนี้  บอกลาพระเถระเจ้าอาวาสด้วย.

           ๖.  ภิกษุผู้จะเข้าไป  เพื่อรับบิณฑบาตในละแวกบ้าน  ควร

ประพฤติให้ถูกธรรมเนียมดังนี้ :-




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 57

           ก.  นุ่งห่มให้เรียบร้อย  คือนุ่งปิดสะดือปกหัวเข่า  ผูกประคด

เอว  ซ้อนผ้าสังฆาฏิกับอุตตราสงค์เข้าด้วยกันเป็น ๒  ผืน  ห่มคลุม

ปิด ๒  บ่ากลัดดุม.

           ข.  ถือบาตรในภายในจีวร  เอาออกเฉพาะเมื่อจะรับบิณฑบาต.

           ค.  สำรวมกิริยาให้เรียบร้อย  ตามสมณสารูปในเสขิยวัตร.

           ฆ.  กำหนดทางเข้าทางออกแห่งบ้าน  และอาการของชาวบ้าน

ผู้จะให้ภิกขาหรือไม่.

           ง.  รู้ว่าเขาจะให้  รับบิณฑบาตด้วยอาการสำรวมดังกล่าวไว้

ในหมวดโภชนปฏิสังยุตในเสขิยวัตร.

           จ.  รูปที่กลับมาก่อน  เตรียมอาสนะที่นั่งฉัน น้ำฉัน  ภาชนะ

รองของฉัน  ตลอดถึงน้ำล้างเท้าเละเครื่องเช็ดเท้า  ไว้ท่ารูปมา

ทีหลัง.  ฝ่ายรูปมาทีหลัง  ฉันแล้วเก็บของเหล่านั้นและกวาดหอฉัน.

ธรรมเนียมนี้  สำหรับวัดที่ภิกษุทั้งหลายฉันในหอฉันแห่งเดียวกัน  แต่

ฉันไม่พร้อมกัน.

           ๗.  ภิกษุผู้จะฉันอาหาร  ควรประพฤติให้ถูกธรรมเนียมดังนี้ :-

           ก.  นุ่งห่มให้เรียบร้อย  ตามสมควรแก่ฉันในวัดหรือในบ้าน

ในอรรถกถาว่า  เมื่อจะไปสู่ที่อังคาสของทายกแม้ในวัด ควรห่มคลุม

แต่ในบัดนี้ ในวัดใช้ห่มเฉวียงบ่าทั้งนั้น.

           ข.  รู้จักอาสนะอันสมควรแก่ตน ถ้านั่งเข้าแถวในที่อังคาส

อย่านั่งเบียดพระเถระ ถ้าที่นั่งมีมาก  เว้นไว้ที่ ๑  หรือ ๒  ที่  ในอาสนะ




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 58

ที่เขาตั้งหรือปูมีจำกัดจำนวนภิกษุ  จะทำอย่างนั้นไม่ได้  บอกให้

พระเถระทำโอกาสแล้วนั่งได้  และอย่าห้ามอาสนะภิกษุผู้อ่อนกว่า

ด้วยนั่งเสียหลายแถว  เช่นนี้ภิกษุอ่อนไม่มีโอกาสจะนั่ง.

           ค.  ห้ามไม่ให้นั่งทับผ้าสังฆาฏิในบ้าน.  ข้อนี้ข่างไม่สะดวกใน

บัดนี้เลย  แต่ได้ความว่า  เป็นธรรมเนียมเมื่อครั้งใช้ห่มผ้าเล็ก  เมื่อ

นั่งทับผ้าสังฆาฏิเอามือลอดออกมาลำบาก  ฉันไม่สะดวก  ทั้งชวนเหนี่ยว

ผ้าห่มให้เลื่อนลง.  ในบัดนี้  ดูไม่จำเป็นจะถือแล้ว.

           ฆ.  ทายกถวายน้ำถวายโภชนะ  รับโดยเอื้อเฟื้อ  ถ้าโภชนะ

เขาไม่ได้จัดถวายเฉพาะรูป ๆ  เขาจัดมาในภาชนะอันเดียว  ถวาย

ให้ตักเอาเองหรือเขาตักถวาย  หวังให้ได้ทั่วกัน  ถ้าของน้อยเห็นว่า

จะไม่พอกัน  ผลัดกันรับบ้างไม่รับบ้าง.

           ง.  ในโรงฉันเล็กพอจะแลทั่วถึงกัน  ภิกษุทั้งหลายยังไม่ได้รับ

โภชนะทั่วกัน  ภิกษุผู้สังฆเถระอย่าเพิ่งลงมือฉัน  เว้นไว้แต่ในที่อังคาส

ภิกษุมากแลเห็นกันไม่ทั่ว  หรือพ้นวิสัยจะรอคอยกันได้.

           จ. ฉันด้วยอาการอันเรียบร้อย  ตามระเบียบอันกล่าวไว้ใน

โภชนปฏิสังยุตแห่งเสขิยวัตร.

           ฉ.  อิ่มพร้อมกัน.  ในบาลี  แสดงความข้อนี้ไว้ว่า  ภิกษุทั้งหลาย

ยังฉันไม่แล้ว  ภิกษุผู้สังฆเถระ  อย่าเพิ่งรับน้ำล้างบาตร  ในบัดนี้

ให้ยังไม่บ้วนปากและยังไม่ล้างมือแทน.

           ช.  ระวังไม่บ้วนปากและล้างมือ  ให้น้ำกระเซ็นถูกภิกษุผู้นั่งใกล้

หรือถูกจีวรของตนเอง.




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 59

           ฌ.  ฉันในที่อังคาสของทายก  เสร็จแล้ว  ทำอนุโมทนา.

ธรรมเนียมเก่า  กล่าวอนุโมทนารูปเดียว  เป็นหน้าที่ของพระสังฆเถระ

เช่นเดียวกับว่ายถาในบัดนี้  แต่ให้มีภิกษุผู้รองลงมาอยู่เป็นเพื่อนราว

๔-๕  รูป  ภิกษุผู้เหลือกลับไปได้ก่อน  พระเถรจะสั่งภิกษุอื่นที่ตน

หรือทายกปรารถนาให้อนุโมทนาก็ได้.  ในบัดนี้สวดพร้อมกัน  บางที

รูปหนึ่งเทศนาอนุโมทนานำก่อน.

           ญ.  เมื่อกลับอย่าเบียดเสียดกันออกมา.  ถ้าโรงฉันแคบ  ภิกษุ

ผู้อยู่ปลายแถวออกก่อน  โดยทวนลำดับขึ้นไป  แล้วยืนรออยู่ข้างนอก

กว่าพระสังฆเถระจะออกมา  ถ้ารงฉันกว้าง  ออกตั้งแต่ต้นแถว

แล้วเดินกลับตามลำดับแก่อ่อน ท่านให้ไว้ระยะพอคนเดินผ่านได้ใน

ระหว่าง.

           ฏ.  ห้ามไม่ให้อาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทในบ้านเขา  ของ

เป็นเดนก็เหมือนกัน.

           ๘. โคนไม้เป็นเสนาสนะดั้งเดิมของภิกษุ  แม้อย่างนั้น  ใน

พรรษาจำต้องหาเสนาสนะอันเป็นที่กำบังฝน  อันคนทำหรืออันเป็นเอง.

ของที่คนทำโดยอาการปกติของเรือน  มีสัณฐานต่างกัน  ใช้ได้ทั้งนั้น

เว้นไว้แก่กุฎีดินล้วน  อันเป็นของดิบก็ตาม  เผาสุกก็ตาม  ข้อที่ห้าม

ไม่ให้อยู่ในตุ่ม  ก็น่าจะหมายเอากุฎีดินล้วนอันเผาสุกนี้เองของอัน

เป็นเองนั้นออกชื่อไว้แต่ถ้ำแห่งภูเขา  จะถือเอาเป็นเสนาสนะได้  ส่วน

โพรงไม้เป็นของห้ามไม่ให้ใช้เป็นที่อยู่.

           ในสังฆิกาวาส  ภิกษุทั้งปวงมีสิทธิในอันจะได้อยู่ในเสนาสนะ




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 60

ของสงฆ์  เว้นไว้แต่ประพฤติตนผิดธรรมวินัย  ถูกขับไล่เสียจากวัด

สงฆ์จัดให้มีภิกษุไว้เป็นผู้แจกเสนาสนะ เรียกเสนาสนคาหาปกะ  ห้าม

ไม่ให้ภิกษุแย่งชิงเสนาสนะกันอยู่ตามลำพัง  การแจกเสนาสนะให้ถือ

มี ๒  คราว  เมื่อในพรรษา ๑  เมื่อนอกพรรษา ๑.  ในพรรษา   ภิกษุ

ผู้ถือเสนาสนะมีสิทธิจะอยู่ได้ตลอดเวลาจำพรรษา   เดือน  นอก

พรรษา  ภิกษุผู้แจกเสนาสนะจะย้ายภิกษุ  จากเสนาสนะแห่งหนึ่งไปอยู่

แห่งอื่น  เพื่อจะให้ภิกษุทั้งหลายได้รับเสนาสนะอันเหมาะแก่ตน ๆ

ในเวลาเช่นนั้น ห้ามไม่ให้กางกั้นเสนาสนะ  คือดื้อไม่ยอมไป ในบาลี

แสดงความข้อนี้ไว้  ด้วยห้ามไม่ให้หวงเสนาสนะที่ได้ถือไว้นั้นตลอด

กาลทั้งปวง  ห้ามไม่ให้หวงเสนาสนะสงฆ์  แม้ที่เขาทำเฉพาะบุคคล

ตามลำดับพรรษา.  อาพาธเพียงเล็กน้อย  จะถือเอาเป็นเลศหวง

เสนาสนะ  ก็ไม่ควร.  ฝ่ายภิกษุผู้แจกเสนาสนะเล่า  ควรรู้ภิกษุผู้อัน

ตนควรให้ย้ายหรือไม่ควร.  ไม่ควรย้ายภิกษุผู้แก่กว่า  เพื่อจะแจก

เสนาสนะให้ภิกษุผู้อ่อนกว่า.  ไม่ย้ายภิกษุผู้ยังอาพาธ  เว้นไว้แต่

อาพาธเป็นโรคอันจะติดกันได้  เช่นโรคเรื้อน  และเป็นโรคอันทำ

เสนาสนะให้เปรอะเปื้อน  เช่นโรคอุจจารธาตุ  ควรจัดเสนาสนะให้อยู่

ส่วนหนึ่ง. ไม่ควรย้ายภิกษุผู้รักษาคลังสงฆ์ เพราะเธอมีหน้าที่จะ

ต้องอยู่เฝ้าในสถานที่ใช้เป็นที่เก็บพัสดุของสงฆ์.  ไม่ควรย้ายภิกษุผู้

เป็นพหุสูต  ผู้มีอุปการระแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการบอกแนะอรรถ-

ธรรม.  แม้ภิกษุผู้ทำการปฏิสังขรณ์เสนาสนะอันชำรุดให้คืนเป็นปกติ

ก็ไม่ควรให้ย้าย เธอเป็นผู้ขวนขวาย  ก็ควรจะให้อยู่ต่อไป.  คำที่ว่านี้




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 61

หมายเอาการย้ายจากเสนาสนะดีไปอยู่เสนาสนะทราม.  อนึ่ง  ไม่ควร

ให้ภิกษุรูปเดียวถือเสนาสนะ  ๒ แห่ง

           ภิกษุผู้รับถือเสนาสนะของสงฆ์ ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะ

ด้วยอาการดังนี้ :-

           ก. อย่าทำเปรอะเปื้อน.  ในบาลี  แสดงความข้อนี้ไว้  ด้วยห้าม

ไม่ให้ถ่มเขฬะลงบนพื้นที่บริกรรม   [ เช่นดาดปูนหรือปูไม้ขัดเกลี้ยง

หรือขัดเงา ].  สวมรองเท้าอยู่  ห้ามไม่ให้เหยียบเสนาสนะเช่นนั้น

เท้าเปื้อนหรือล้างแล้วแต่ยังเปียก  [ เหยียบลงรอยเท้าปรากฏ ]  ก็ห้าม

ไม่ให้เหยียบ ให้ล้างและเช็ดจนแห้งหรือจนรอยเท้าไม่ปรากฏแล้ว

จึงเข้าไป.  ห้ามไม่ให้อิงฝาที่เขาทำบริกรรม  [ โบกปูนทาสีเขียนสี

หรือแห่งอย่างอื่น ]  เสา  บานประตู  บานหน้าต่าง พนักก็เหมือนกัน

อิงไม่ควร.  เตียงตั่งของสงฆ์อันเป็นของตกแต่ง  ตัวเปล่านอนทับ

นั่งทับมลทินกายจะติดเปรอะเปื้อน ควรเอาเครื่องลาดปูลงก่อน  จึง

นอนทับนั่งทับ  ทรงอนุญาตผ้าปูนอนผ้าปูนั่งเป็นบริขารสำหรับตัว

ไว้  ก็เพื่อจะได้ใช้เป็นของรับมลทินกาย.  ตัวฟูกและตัวหมอน  ก็

เหมือนกัน  เขาทำไว้สำหรับนอนก็จริง  แต่ไม่ใช่เพื่อนอนลงไปทั้ง

อย่างนั้น  ตัวฟูกก็ทำเพื่อมีผ้าปูนอนลาดทับอีกชั้นหนึ่ง  หมอนก็เพื่อ

มีปลอกหุ้ม  บนของเช่นนี้  จะนอนทับลงไปทั้งอย่างนั้น  ไม่มีผ้าลาด

กัน  ไม่ควร. ส่วนเครื่องลาดที่สำหรับใช้นั่ง  ไม่ควรนอนทับ  ส่วน

เครื่องลาดทำไว้สำหรับนอน  คือผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน  เป็น

ของทำไว้สำหรับรับมลทินกายอยู่แล้ว  นอนทับก็ได้.  พระอรรถกถา-




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 62

จารย์กล่าวถึงข้อนี้อย่างกวดขัน  จนขั้นนอนหลับไป  อวัยวะกระทบ

เตียงตั่ง  ปรับเป็นอาบัตินับด้วยจำนวนเส้นขน  เป็นเคราะห์ดีจริง ๆ

ที่ทรงอนุญาตให้แสดงอาบัติมากกว่าหนึ่ง  รวมกล่าวว่า   " สมฺพหุลา "

ถ้าต้องนับจำนวนว่าเท่านั้นเท่านี้  จะทำอย่างไรกัน  กล่าวสั้น  ของ

สงฆ์เกือบแตะเข้าไปไม่ได้  เมื่อเป็นเช่นนี้ ของสงฆ์ที่ทำไว้สำหรับ

บริโภคจะมีประโยชน์อะไร  พัสดุของสงฆ์มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร  จัก

กล่าวข้างหน้า ในที่นี้ กล่าวไว้แต่เพียงว่าของสงฆ์  ใช้บริโภคได้

เหมือนกัน เก่าคร่ำคร่าไปโดยกาล  ไม่เสียหายอะไรแก่ผู้บริโภค

ข้อที่ทรงอนุญาตให้ลาดก่อนจึงนอนนั้น เพื่อจะใช้ได้นาน  อย่างเดียว

กับของบุคคล  ที่นอนเขาก็มีผ้าปู  หมอนเขาก็มีปลอกหุ้ม  เพื่อรู้จัก

รักษาของ  แม้คนที่ทรัพย์  อาจผลัดได้เดือนละสำรับ  เขาก็ยังต้อง

รักษา  ไม่ทำเช่นนั้น เป็นสุรุ่ยสุร่ายไม่สมควร.

           ข.  ชำระให้สะอาด อย่าให้รกด้วยหยากเยื่อยางใยและละออง.

           ค.  ระวังไม่ให้ชำรุด  เช่นจะยกเตียงตั่งเป็นต้นเข้าออก  ระวัง

ไม่ให้กระทบบานประตูหรือฝา จะวางเตียงตั่งบนพื้นที่เขาทำบริกรรม

เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งรองปลายเท้า  อย่าให้ปลายเท้ากัดพื้น.

           ฆ.  รักษาเครื่องเสนาสนะ  เป็นต้นว่าเตียงตั่ง  ที่สุดจนกระโถน

ให้สะอาด  และจัดตั้งให้เข้าระเบียบ.

           ง.  ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้มีพร้อม.

           จ.  ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่ง  อย่าเอาไปใช้ในที่อื่นให้

กระจัดกระจาย สำหรับที่ใด  ให้ใช้ในที่นั้น  แต่จะยืมไปใช้ชั่วคราวแล้ว




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 63

นำมาคืนได้อยู่  หรือในเวลาไม่มีภิกษุอยู่ ของเก็บไว้ในที่นั้นจะหาย

หรือเป็นอันตรายเพราะสัตว์กัดเป็นต้น  ภิกษุผู้เป็นเสนาสนคาหาปกะ

จะขนเอาไปเก็บไว้ในที่อื่น  สมควรแท้.

           ๙.  ในสถานที่อยู่ของคนผู้เป็นหมู่กัน  คนเหล่านั้นต่างถ่ายของ

โสโครกออกจากกายของตน ๆ  ทุกวัน ๆ  นี้เป็นภารสำคัญอย่างหนึ่ง

ของหัวหน้าผู้ปกครอง จะต้องจัดให้ถ่ายเป็นที่  ไม่ปล่อยให้ทำเรี่ยราด

ไม่เช่นนั้น   สถานที่อยู่จะโสมม  ในสังฆิกาวาสก็ต้องจัดดุจเดียวกัน

ในบาลี  กล่าวทั้งที่ถ่ายอุจจาระทั้งที่ถ่ายปัสสาวะ.  อันสถานที่เป็น

กลางสำหรับใช้ทั่วไปเชนนั้น  จำต้องช่วยกันรักษาอยู่เอง  พระศาสดา

จึงต้องตั้งวัตรอันจะพึงประพฤติในวัจจกุฎีไว้  มีนัยดังนี้ :-

           ก.  การถ่ายเว็จ  ถ่ายปัสสาวะและอาบน้ำ  ตรัสให้ทำตามลำดับ

ผู้ไปถึง  ไม่เหมือนกิจอื่น  อันจะพึงทำตามลำดับพรรษา.

           ข.  ให้รักษากิริยา  เช่นประตูปิด  ห้ามไม่ให้ด่วนผลักเข้าไป

ให้กระแอมหรือไอก่อน ฝ่ายผู้อยู่ข้างในก็กระแอมหรือไอรับ  ต่อ

ไม่มีเสียงจึงค่อยผลักบาน  จะเข้าจะออกอย่าทำผลุนผลัน  ค่อยเข้า

ค่อยออก   อย่าเวิกผ้านุ่งเข้าไปหรือออกมา  อย่าถ่ายเว็จและชำระ

ให้มีเสียง.

           ค.  ให้รู้จักรักษาบริขาร  เปลื้องจีวรพากไว้เสียข้างนอก  อย่า

ครองเข้าไป.

           ฆ.  ให้รู้จักรักษาตัว  อย่าเบ่งแรงจนถึงชอกช้ำ  เว้นไว้แต่ท้องผูก

เกินปกติ  อย่าใช้ไม้ชำระอันประทุษร้ายตัว  เช่นไม้มีคม  ไม้มีปม




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 64

ไม้มีหนาม  ไม้ผุ ให้ใช้ไม้ที่เหลาเกลี้ยงเกลาแล้วชำระด้วยน้ำ.

           ง.  อย่าทำกิจอื่นในเวลานั้น  ในบาลี  แสดงความนี้ไว้ ด้วยห้าม

ไม่ให้เคี้ยวไม้ชำระฟันพลาง.

           จ. ให้ระวังเพื่อไม่ทำสกปรก  ถ่ายเว็จไม้ค้างหรือเปื้อนล่อง

ถ่ายปัสสาวะไม่นอกราง  ไม่บ้วนน้ำลายหรือสั่งน้ำมูกลงในรางปัสสาวะ

หรือที่พื้น  ไม่ทิ้งไม่ชำระลงในหลุมเว็จ  ทิ้งในตะกร้าที่มีไว้สำหรับ

เมื่อชำระไม่เหลือน้ำไว้ในหม้อชำระ  ข้อหลังนี้  กล่าวเฉพาะใช้หม้อ

อันมีสำหรับวัจจกุฎีอันเป็นที่ถ่ายทั่วไป  ถ้าใช้หม้อของตนเอง  ไม่ห้าม.

           ฉ.  ให้ช่วยรักษาความสะอาด  พบวัจจกุฎีโสโครกอันผู้อื่นทำ

ไว้ให้ช่วยล้าง  รกให้ช่วยกวาด  ตะกร้าไม้ชำระเต็มให้เท  น้ำสำหรับ

ชำระหมด  ให้ตักมาไว้.

           ที่ถ่ายปัสสาวะนั้น  กล่าวในบาลีเพียงแต่ว่า  จัดให้ถ่ายเป็นที่

มีกำแพงก่อด้วยอิฐหรือศิลาหรือมีฝาไม้บัง มีปาทุกา คือเขียงเท้า

เป็นที่เหยียบนั่ง  มีหม้อรองปัสสาวะที่ถ่าย มีวัตรจะพึงประพฤติ

อย่างไร  ในที่นั้นหาได้แสดงไว้ไม่  ในวัดทั้งหลายก็ยังไม่เคยพบ

ว่าจัดขึ้น  แต่ได้พบโทษเพราะไม่จัดขึ้น  คือกลิ่นปัสสาวะฟุ้งไปใน

ที่นั้น ๆ.  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า  เป็นสถานที่จัดใช้เฉพาะในบริเวณ

เป็นที่ประชุม  เช่นในบริเวณโรงอุโบสถ  ในบริเวณโรงธรรมสภา

และในบริเวณอุปัฏฐานศาลา  นอกจากบริเวณเหล่านี้ไม่ห้าม  ใช้

หม้อรอง  ก็เห็นได้ว่าเป็นของใช้ชั่วคราว  ไม่ใช้ยั่งยืนดังวัจจกุฎี




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 65

การเทและรักษาให้สะอาด  จะไม่เป็นกิจอันหนัก  ภิกษุผู้ทำเวร

รักษาสถานที่ประชุมเหล่านั้น  ก็พอทำได้กระมัง  จึงไม่ได้ตั้งวัตร

ไว้สำหรับ.

           ๑๐.  ถ้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอาพาธลง  ภิกษุผู้เพื่อนสหธรรมิก

ควรเอาใจใส่ช่วยรักษาพยาบาล  อย่าทอดธุระเสีย.  พระศาสดาทรง

ปรารภภิกษุอาพาธ  ตรัสสั่งไว้ว่า   " ภิกษุทั้งหลาย  มารดาก็ดี  บิดา

ก็ดี  ของเธอทั้งหลายไม่มีถ้าพวกเธอจะไม่พยาบาลกันเอง  ใครเล่า

จะพยาบาลพวกเธอ  ภิกษุใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเรา  ขอให้ภิกษุนั้น

พยาบาลภิกษุไข้เถิด  ถ้าอุปัชฌายะ  อาจารย์  สัทธิวิหาริก  อันเตวาสิก

ของผู้ไข้มีอยู่  ให้เธอพยาบาลกัน  กว่าจะหายหรือสิ้นชีพ  ถ้าไม่มี

ให้ผู้ร่วมอุปัชฌายะร่วมอาจารย์พยาบาล  ถ้าภิกษุไข้เป็นผู้จรมา  ตัว

คนเดียว  ให้สงฆ์พยาบาล "   ดังนี้.  อธิบายความข้อหลังว่า  ให้

พระสังฆเถระเอาธุระเป็นกิจสงฆ์  จัดภิกษุบางรูปให้พยาบาลประจำ

หรือจัดให้ผลัดกันรับวาระพยาบาล  สุดแต่จะสะดวก.  แต่ภิกษุผู้

เข้าพยาบาลก็มี  ไม่เข้าใจก็มี  ถ้าไข้หนักสมควรเลือกเอาภิกษุผู้

เข้าใจ  มอบให้รับธุระเป็นผู้พยาบาลใกล้ชิดภิกษุไข้  ภิกษุนอกจากนี้

ควรให้เป็นผู้ช่วยขวนขวายในภายนอก  เป็นต้นว่า  ช่วยต้มน้ำหรือ

ซักผ้า.  ภิกษุพร้อมด้วยองค์  สมควรเลือกเป็นผู้พยาบาล  ดังนี้ :

รู้จักประกอบเภสัช  รู้จักของอันแสลงแก่โรคและไม่แสลง นำเข้าไป

ให้แต่ของไม่แสลง  กันเอาของแสลงออกเสีย  เป็นผู้ไม่เกลียดแต่ของ




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 66

โสโครก  ไม่ใช่เป็นผู้มักได้  มีจิตเมตตา.

           ฝ่ายภิกษุผู้อาพาธ  รู้ว่าตนต้องเป็นภาระของเพื่อนสหธรรมิก

ด้วยกัน  ก็สมควรจะทำตนให้เป็นผู้พยาบาลง่าย  คือทำความสบาย

ให้แก่ตน    [ ไม่ฉันของแสลง  และไม่ทำฝืนความสบายอย่างอื่น ]  รู้จัก

ประมาณ  คือความพอดีในของไม่แสลง  [ เช่นไม่ฉันมากเกินไป ]

ฉันยาง่าย บอกอาการไข้ตามเป็นจริงอย่างไรแก่ผู้พยาบาล เป็นผู้อดทน

ต่อทุกขเวทนา.

           แม้สามเณรก็ควรได้รับความพยาบาล  ดุจเดียวกับภิกษุ.

           เพื่อนสหธรรมิก  คือภิกษุก็ดี  สามเณรก็ดี  อาพาธอยู่ใน

ที่อื่น  แม้เป็นทางไกล  และเป็นเวลาในพรรษา  ยังทรงอนุญาต

ให้ทำสัตตาหะไปพยาบาลได้  และประทานยกเว้นด้วยเรื่องนิสัยและ

อื่น ๆ  อีก.

                                      จริยาวัตร

           ข้อ ๑  มีห้ามไม่ให้เหยียบผืนผ้าข้าวอันเขาลาดในที่นิมนต์.  มี

เรื่องเล่าว่า  โพธิราชกุมารเป็นหมัน  ไม่มีโอรสธิดา  เชิญเสด็จ

พระศาสดากับภิกษุสงฆ์ไปฉัน   และลาดผ้าขาวเป็นทางเสด็จ  เสี่ยง

ทายว่า  ถ้าจะได้บุตรหรือบุตรี  ขอให้พระศาสดาเสด็จเหยียบผ้านั้นไป



๑.  ในบาลีนับจำนวนเป็น ๕ เข้าใจว่าเดิมคงมีแต่ ๕  ประการข้างต้น  ภายหลังชะรอยพระธรรม-

สังคาหกาจารย์จะเห็นว่า องค์เนื่องด้วยของแสลงและไม่แสลง  เป็นความข้อเดียวกัน  จึงรวมเข้า

เป็นองค์เดียวกัน  เติมไม่มักได้กับจิตมีเมตตาในระหว่างนั้น  กับไม่เกลียดของโสโครก  องค์ที่ ๒

จึงมี   พากย์  แปลกจากองค์อื่น  และองค์ว่าไม่เกลียดของโสโครกกระเด็นออกไปอยู่ท้าย  ไม่

ต่ออนุสนธิกับการพยาบาล.




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 67

ถ้าจะไม่ได้  ขออย่าได้ทรงเหยียบ  พระศาสดาไม่ทรงเหยียบ  และ

่ตรัสห้ามไว้ด้วย.  พระองค์ไม่ทรงเหยียบนั้น  เพื่อจะไม่ทำเปรอะเปื้อน

กระมัง  ในบัดนี้เขาปูผ้าขาวเป็นอาสนะที่พระนั่ง  พระผู้ไม่ระวังกิริยา

เหยียบย่ำผ้านั้นเป็นรอยเปื้อน  แสดงให้เห็นความสกปรก  ไม่รู้จัก

รักษามารยาทของพระ  น่าเกลียดอยู่  แม้พระพวกเดียวกันจะนั่งลง

ก็น่าขยะแขยง  ผลแห่งความไม่รักษามารยาทในปัจจุบัน  ส่อให้เห็น

มูลแห่งความห้ามนี้ชัด  เพราะเหตุนั้น  ควรระวังเพื่อจะไม่เหยียบย่ำ

ผ้าอาสนะขาวที่ปูไว้สำหรับนั่ง  เป็นแต่นั่งอย่างเดียว  ส่วนผ้าที่

เขาปูไว้สำหรับยืนในการมงคล  และผ้าสำหรับเช็ดเท้าที่ล้างยังเปียก

เหยียบได้  ไม่ห้าม.

           ข้อ ๑  ยังไม่ได้พิจารณาก่อน  อย่าเพิ่งนั่งลงบนอาสนะ.  อธิบาย

ว่า  จะนั่งลงบนอาสนะ  อย่านั่งผลุนผลันลงไป  ทำเช่นนั้น  ถ้ามีของ

อะไรวางอยู่บนนั้น  จะทับหรือกระทบของนั้น  ถ้าเป็นขันน้ำก็จะหก

เสียมารยาท  พึงตรวจดูด้วยนัยน์ตาหรือด้วยมือลูบก่อน  ตามแต่จะรู้

ได้ด้วยอย่างไร  แล้วจึงค่อยนั่งลง.

           ข้อ ๑  ห้ามไม่ให้นั่งอาสนะยาวกับหญิงและคนพันทาง  แต่จะ

นั่งกับคนมีอาสนะไม่เสมอกันได้อยู่.  ที่อันเขาทำไว้นั่งยาว  นั่งได้

ตั้งแต่ ๓  คนขึ้นไป  เป็นจองยกจากที่ได้  เช่นเก้าอี้ยาวที่ตั้งตามร่ม

ต้นไม้ก็ดี เป็นของอยู่กับที่  เช่นร้านไม้ที่เขาปักขาลงในดิน  เอา

กระดารตรึงข้างบน  หรือแท่นก่อด้วยอิฐก็ดี  ชื่อว่าอาสนะยาวในที่นี้

บนที่เช่นนี้  จะนั่งกับหญิงหรือคนพันทาง  มีกะเทยเป็นต้น  ไม่




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 68

ควร.  คนมีอาสนะไม่เสมอกันนั้น  ท่านแก้ว่า  ภิกษุผู้แก่หว่าหรือ

อ่อนกว่ากันพ้น   พรรษา แต่หาได้พูดถึงอนุปสัมบันไม่ ข้าพเจ้า

เข้าใจว่า  คนมีอาสนะไม่เสมอกันนั้น  ได้แก่อนุปสัมบันผู้ที่ภิกษุไม่

ได้ยอมให้เข้าพวก จะนั่งบนอาสนะยาวเช่นนั้นกับอนุปสัมบันได้อยู่

ส่วนภิกษุด้วยกันเป็นสมานาสนิก  ผู้มีอาสนะเสมอกัน  นั่งร่วมกันได้

แท้.  อธิบายอย่างนี้  ความเข้ารูปกันได้ตลอด  แต่ในบาลีเอง

ก็แก้สมานาสนิกว่า  ภิกษุผู้มีพรรษาไล่เลี่ยกัน  แก่หรืออ่อนกว่ากัน

ไม่ถึง ๓  พรรษา  นักวินัยจงพิจารณาดูเถิด.

           ข้อ ๑  ภิกษุผู้รองลำดับฉันค้างอยู่  อย่าให้ลุก.  อธิบายว่า  ภิกษุ

ผู้กำลังฉันอยู่ในโรงฉัน  ภิกษุรูปหนึ่งไปล่า  เมื่อเข้าไป ภิกษุผู้

อ่อนกว่าเธอ  จะต้องร่นลงมา  ให้อาสนะแก่เธอตามลำดับพรรษา

เช่นนี้อย่าให้เธอลุกจากที่  พึงอนุญาตให้เธอฉันต่อไป  ส่วนตนพึงนั่ง

ลงในที่ว่างแห่งใดแห่งหนึ่ง  สุดแต่จะไม่ต้องกวนให้ภิกษุผู้ฉันค้าง

ลุกจากที่. หากภิกษุนั้นขืนแทรกแซงเข้าไป  ภิกษุผู้อ่อนกว่า  ก็ควร

ลุกร่นลงมา  ให้อาสนะแก่เธอ  ไม่ควรขวางอาสนะผู้แก่กว่า.

           ข้อ ๑  จะพักในกลางวัน  ท่านให้ปิดประตู.  ในข้อนี้พระอรรถ-

กถาจารย์อธิบายจนเหลิงเจิ้ง  ว่าประตูเช่นไรควรปิด  ประตูเช่นไรไม่

ควรปิด  ย่นมติของท่านเข้า ประตูเช่นไรปิดได้  เช่นประตูห้องก็ให้ปิด

ประตูเช่นไรปิดไม่ได้  เช่นประตูเดือยเสีย  ฝืดปิดไม่เข้า  หรือประตู

เป็นที่ใช้ของคนมาก  ก็ไม่ต้องปิด  ใจความที่ควรเข้าใจนั้น  คือ

ท่านให้ทำอย่างนั้น  เพื่อให้พักในที่กำบัง  คนแหลกหน้ามาจะได้ไม่




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 69

พบในเวลานอนหลับ  เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว  ก็พึงปฏิบัติให้ถูกประสงค์

หาที่กำบังได้จึงพัก  แม้ในที่ไม่มีประตู หรือมีแต่ไม่มีบาน  หรือเดือยเสีย

ปิดไม่ได้ก็ต้องมีอะไรบัง.  ในที่มีคนช่วยระวัง  ท่านว่าจะปิดก็ได้

นี้ควรใช้ได้ในกาลบางคราว  เช่นคราวเจ็บไข้ มีผู้พยาบาลอยู่เป็น

เพื่อน.

           ข้อ ๑  ห้ามไม่ให้เทอุจจาระ  ปัสสาวะ  หยากเยื่อ  หรือของ

เป็นเดน  ทิ้งลงไปนอกฝานอกกำแพง.  ถ้าภิกษุอยู่บนกุฎี  ทิ้งแม้

หยากเยื่อลงไปทางหน้าต่าง  ถูกคนเข้าก็เสียกิริยา  ถ้ากุฎีอยู่ในที่ไม่ใช่

ทางคนเดิน  เทของเช่นนั้นลงไปจากข้างบน  พื้นที่ข้างกุฎีก็รกสกปรก

ควรถืออย่างกวดขัน.  อีกอย่างหนึ่ง ห้ามไม่ให้ทิ้งของเช่นนั้นในที่

สดเขียว  คือในที่เพาะปลูกของเขา  ต่างโดยเป็นนาเป็นไร่  ในบัดนี้

เป็นสนามหญ้าก็เหมือนกัน.

           ข้อ ๑ ห้ามไม่ให้ขึ้นต้นไม้ เว้นไว้แต่มีกิจ  เช่นหลงทาง  ต้อง

การจะขึ้นสูงเพื่อดูทาง  เช่นนี้ขึ้นได้สูงชั่วคน  กล่าวคือ ๔  ศอก

ต้องการจะหนีอันตรายแต่สัตว์ร้ายเป็นต้น.  ขึ้นสูงกว่านั้นก็ได้  กว่า

จะพ้น.

           ข้อ ๑ ห้ามไม่ให้ไปเพื่อจะดูฟ้อนขับประโคม  ฟ้อนนั้น  เช่น

รำละคร, ขับนั้น   เช่น  ขับเสภา ร้องสักวาประโคมนั้น  เช่น

บรรเลงปี่พาทย์  มโหรี  นี้เป็นองค์แห่งการเล่น  การเล่นบางอย่างมี

องค์   เช่นขับเสภา  มีปี่พาทย์ส่ง  บางอย่างมีองค์ครบทั้ง ๓  เช่น

ละครรำ  มีทั้งบทรำบทร้องบทส่งปี่พาทย์.  ไปธุระอื่น  ไม่ตั้งใจจะไปดู




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 70

พบเข้าในที่นั้น  ไม่เป็นของเสีย  อยู่ในวัด  เขามามีการเล่นเช่นนั้น

เฉพาะหน้า  แลเห็นหรือได้ยิน  ก็เหมือนกัน.  แต่เพียงไปดูยังห้าม

ไม่ต้องกล่าวถึงฟ้อนขับประโคมเอง เป็นอันห้ามแท้.

           ข้อ ๑ ห้ามไม่ให้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาว.  แสดงธรรม

ก็ดี  สวดธรรมก็ดี  ด้วยทำนองมีเม็ดพรายยืดยาวจนเสียพยัญชนะ

ไม่ควร  จะแสดงหรือสวดเป็นพอลำนำ  เช่นที่เรียกว่า  สรภัญญะ

ได้อยู่  การเทศน์หรือสวดตลกคะนอง  ต้องการสรวลเสเฮฮา  เสีย

สมณสารูป  นับเข้าในข้อนี้.

           ข้อ ๑  ห้ามไม่ให้จับวัตถุเป็นอนามาส  คือไม่ควรจุบ  อันมี

ประเภทดับนี้ :-

           ก.  ผู้หญิง  ทั้งเครื่องแต่งกาย  ทั้งรูปที่ทำมีสัณฐานเช่นนั้น

ดิรัจฉานตัวเมียก็จัดเข้าในหมวดนี้.  ผ้านุ่งผ้าห่มที่เขาสละแล้ว  เช่น

ปูเป็นอาสนะ  พ้นจากความเป็นอนามาส.

           ข.  ทอง  เงิน  และรัตนะ  ในอรรถกถาออกชื่อรัตนะ ๘

ประการ  มุกดา  มณี  ไพฑูรย์  ประพาฬ  ทับทิม  บุษราคัม  [ ศัพท์

บาลีว่า  มสารคลฺลํ ]  สังข์  ศิลา  รวม  ทอง  เงิน  เข้าด้วยเป็น

รัตนะ  ๑๐  ประการ.  เพชรครั้งนั้นก็รู้จักกันแล้ว  แต่อย่างไรไม่ยก

ขึ้นกล่าวหาทราบไม่.  สังข์นั้น  เข้าใจว่า  หมายเอาของที่ตกแต่งด้วย

ทองและรัตนะ  สำหรับรดน้ำตามธรรมเนียมของพราหมณ์  หรือ

แม้สังข์สำหรับเป่าด้วย  ไม่ใช่สังข์ทั่วไป  เพราะกระดองสังข์  อนุญาต

ให้ใช่ทำลูกดุมลูกถวินได้.  ศิลานั้น  เข้าใจว่า  หมายเอาของมีชาติศิลา




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 71

แต่เป็นของดี  เช่นหยกและโมราเป็นตัวอย่าง  เดิมทีชะรอยเขาจะใช้

ของเช่นนั้นเป็นเครื่องประดับ  ดุจกำไลมือหยกของจีน  ลูกประหร่ำ

ผูกข้อมือที่ทำด้วยศิลาแดงร้อยสลับกับลูกทอง  ก็น่าจะออกจากหยกก่อน

ไม่ใช่ศิลาทั่วไป.

           ค.  ศัสตราวุธต่างชนิด  เป็นเครื่องทำร้ายชีวิตและร่างกาย

เครื่องมือทำงานเช่นขวานเป็นต้น  ไม่นับเข้าในหมวดนี้.

           ฆ.  เครื่องดักสัตว์ทั้งบนบกทั้งในน้ำ.

           ง.  เครื่องประโคมทุกอย่าง.

           จ.  ข้าวเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่ในที่.  

           การห้ามจับต้องวัตถุเป็นอนามาสนี้  ไม่ได้มาโดยตรงในบาลี

พระอรรถกถาจารย์เทียบเคียงนัยในวินีตวัตถุ  คือเรื่องเทียบสำหรับ

ตัดสินอาบัติบ้าง  ในที่อื่นบ้าง  วางธรรมเนียมไว้  แต่ก็เป็นการ

สมควรอยู่  เช่นภิกษุผู้เว้นจากฆ่าสัตว์     จะจับศัสตราวุธหรือเครื่อง

ดักสัตว์  ดูน่าเกลียด  เป็นผู้เว้นจากประโคม จะจับเครื่องประโคม

ก็น่าเกลียดเช่นเดียวกัน.  ตกว่าพัสดุที่ท่านว่าเป็นอนามาส  คงเป็น

ของไม่ควรแก่ภิกษุมาแต่เดิมด้วย.

                                       วิธิวัตร

           วิธีครองผ้าของภิกษุ  ที่ใช้อยู่บัดนี้  ตามแบบธรรมยุต  นุ่ง

อัตรวาสกม้วนชายเข้ามาข้างซ้าย  เหน็บชายบนเหนือสะดือ  ไม่ทำ

ชายพก ริมผ้าข้างล่าง  ทำให้ปกเข่าลงมาเพียงราวครึ่งแข้ง  อย่าให้

ปกลงมามากจนกีดแข้งในเวลาก้าวเดิน  เข้าที่ประชุมหรืออกนอก




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 72

อาราม  นอกที่อยู่  รัดประคดเอว  ห่มอุตตราสงค์ม้วนซ้ายเข้ามาดุจ

เดียวกัน  ในอารามหรือในที่อยู่  ปิดบ่าซ้าย  เปิดบ่าขวา  นอกอาราม

นอกที่อยู่  คลุมทั้ง ๒  บ่า  แหวกลูกบวบเอามือขวาออกมาทางกลีบ

จีวร  กลัดรังดุม.  สังฆาฏิ  ในบาลีกล่าวว่าใช้ซ้อนกับอุตตราสงค์ห่ม

เข้าบ้าน  แต่ในอารามโดยที่สุดในเวลาทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้กล่าว

ถึงเลย  ในเมืองเราใช้พาดบ่าซ้ายทับอุตตราสงค์.

           บาตร  ใช้ถือเมื่อเวลาเที่ยวรับภิกษา  ด้วยอาการอันกล่าวแล้ว

ในกัณฑ์ที้  ๑๒  บริขารบริโภค  ตอนบาตร.

           วิธีพับจีวร  กล่าวไว้ในบาลีไม่ให้พับหักกลาง  ให้พับทำขนด

เหลื่อมเข้าบ้างออกบ้างราว   นิ้ว  เอาประคดเอวไว้ในขนดแห่ง

อันตรวาสก.  แบบนี้ดีอยู่  กันจีวรช้ำตรงกลาง  แต่ในเวลานี้หาผ้า

ได้ง่าย จึงไม่ค่อยรู้สึกนัก.  จีวรครั้งเก่าเก็บบนราว  วิธีเก็บ  ถือ

จีวรด้วยมือข้างหนึ่ง  ลูบราวด้วยมือข้างหนึ่ง  เอาจีวรสอดใต้ราว

ค่อย ๆ  พาดให้ชายอยู่ข้างตัว  ขนดอยู่ข้างนอก.

           บาตร  เก็บไว้ใต้เตียงใต้ตั่ง  วิธีเก็บ  ถือบาตรด้วยมือข้างหนึ่ง

ลูบใต้เตียงใต้ตั่งด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วจึงเก็บ.

           วิธีเช็ดรองเท้า  ใช้ผ้าแห้งเช็ดก่อน  แล้วจึงใช้ผ้าเปียกเช็ด.

           วิธีพัดให้เถระ  ในบาลีกล่าวไว้  ให้พัดที่หลังเท้าหน   ที่ตัว

หน ๑  ที่ศีรษะหน ๑.  แต่พัดที่ศีรษะนั้น  ในจำพวกถือต่ำสูง  ควรงด.

           วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู  ในฤดูหนาว  ท่านแนะให้เปิดใน

กลางวัน  ปิดในกลางคืน.  ในฤดูร้อน  ให้ปิดในกลางวัน  เปิดในกลางคืน;




นักธรรมโท - วินัยมุข เล่ม ๒ - หน้าที่ 73

ข้าพเจ้าได้ลองในฤดูร้อน  เปิดหน้าต่างแต่น้อยที่สุด  สบายดีกว่าเปิด

มากบาน  เพราะอากาศภายนอกร้อนกว่าอากาศภายใน.

           วิธีเดิน  ท่านให้เดินเรียงตัวตามลำดับแก่กว่า  เว้นระยะห่างกัน

พอคนเดินผ่านได้.  ถ้าพระมาก  แถวจะยาว  ถ้าจะเดินระยะถี่กว่านั้น

ควรเว้นตอนไว้พอคนทีช่องผ่าน  ไม่เช่นนั้น คนอื่นจะเสียประโยชน์.

           จะทำวินัยกรรม  ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า  นั่งกระหย่ง  ประณมมือ

ใช้ในกิจมีปลงอาบัติเป็นต้น.

           ว่านโนคำนมัสการ  ว่า   จบ  ยังคำอื่นอีกก็มี เช่นคำปฏิญญา

เมื่อปลงอาบัติ  คำปวารณาและอื่น ๆ.

           วิธิวัตรนี้ไม่คงแบบ อาจเปลี่ยนไปตามกาลเทศะ  นำมากล่าว

ไว้ในที่นี้  เพื่อจะให้รู้ว่าหมู่ภิกษุจะประพฤติสม่ำเสมอกัน  ก็ต้อง

อาศัยวิธีด้วยประการหนึ่ง เช่นนุ่งห่มเป็นแบบเดียวกัน  ครั้งโบราณ

ท่านก็ได้จัดมาแล้ว  ถ้าเป็นแบบล่วงเวลาและจะไม่ใช้  ก็ต้องมีวิธี

ใหม่ขึ้นแทนกัน  ไม่เช่นนั้นจะค่อยหลุดไปทีละอย่าง ๆ จนไม่มีอะไร

เหลือ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น